ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สวทช.เปิดตัว "ถุงพลาสติกสลายตัวได้" ประเดิม "กาชาดสีเขียว"

สิ่งแวดล้อม
13 พ.ย. 62
16:50
8,485
Logo Thai PBS
สวทช.เปิดตัว "ถุงพลาสติกสลายตัวได้" ประเดิม "กาชาดสีเขียว"
"สวทช." ประเดิมใช้ "ถุงพลาสติกสลายตัวได้สำหรับขยะอินทรีย์" ในงานกาชาดปีนี้ ทำจาก "แป้งมันสำปะหลัง" เหนียว ยืดหยุ่น แข็งแรง ย่อยสลายได้ภายใน 4 เดือน พร้อมเตรียมทีมวิจัยติดตามการย่อยสลายในสภาวะจริง หวังใช้จุดประกายรักษาสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (13 พ.ย.2562) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBiA) และภาคีเครือข่าย เปิดตัว "ถุงพลาสติกสลายตัวได้สำหรับขยะอินทรีย์" นำร่องการคัดแยกขยะและลดการผลิตขยะพลาสติกใน “งานกาชาด 2562” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-24 พ.ย. นี้ ที่สวนลุมพินี

โดย "ถุงพลาสติกสลายตัวได้สำหรับขยะอินทรีย์" สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติภายใน 4 เดือน ในสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิปกติ แต่หากอยู่ในพื้นที่อุณหภูมิสูง เช่น บ่อกักเก็บขยะที่มีขยะหนาแน่น จะทำให้จุลินทรีย์ย่อยสลายเร็วขึ้นในเวลา 3 เดือน


นายจุลเทพ ขจรไชยกูล ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. ระบุว่า ปัญหา ขยะพลาสติก เกิดขึ้นทั้งบนบกและในทะเล กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกตื่นตัวกันมาก ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกสู่ท้องทะเลมากที่สุดในโลก สาเหตุสำคัญ มาจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-use Plastic) มีอัตราส่วนที่มากถึง 40% ของขยะพลาสติกทั้งหมด จากผลกระทบของการหลุดรอดของขยะออกไปสู่สิ่งแวดล้อม ทำให้ภาครัฐร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก 20 ปี และกำหนดการลดและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง จำนวน 7 ชนิด ที่พบมากในทะเลของประเทศไทยและก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ในโอกาสที่การจัดงานกาชาดปีนี้ มุ่งเป้าเป็นต้นแบบงาน "การกุศลสีเขียว" เพื่อลดขยะ งดใช้โฟม ลดพลาสติก จึงพัฒนาสูตรพลาสติกชีวภาพขึ้น โดยใช้วัตถุดิบที่มีในประเทศไทย คือ แป้งมันสำปะหลัง

โดยนำมาแปรรูปเป็นพลาสติกและทำการผสมสูตรเพื่อเพิ่มสมบัติทางวิศวกรรมให้เหมาะสมกับการนำไปขึ้นรูปเป็นฟิล์มบาง ผลิตเป็น ถุงพลาสติกสลายตัวได้สำหรับขยะอินทรีย์


นายนพดล เกิดดอนแฝก นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีพลาสติก กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง เอ็มเทค สวทช. ระบุว่า จุดเด่นของถุงพลาสติกย่อยสลายได้ มีส่วนผสมจากวัตถุดิบธรรมชาติ คือ แป้งมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักมาผสมด้วยการใช้ความร้อนหลอม ซึ่งทีมวิจัยมีการออกแบบกระบวนการผสมเทคนิค โดยหลอมนวดเนื้อวัตถุดิบให้เข้ากันได้ดี ผลิตออกมาเป็นเม็ดคอมพาวด์ หรือ เม็ดพลาสติกผสมที่มีความเหนียว ยืดหยุ่น และมีความแข็งแรง สามารถเป่าขึ้นรูปได้ง่ายด้วยเครื่องจักร


นายนพดล ระบุเพิ่มเติมว่า ถุงสำหรับใช้คัดแยกขยะอินทรีย์มี 2 ขนาด คือ ถุงหน้ากว้าง 18 นิ้ว สำหรับใช้ตามร้านขายอาหาร และถุงหน้ากว้าง 30 นิ้ว สำหรับวางตามจุดคัดแยกมากกว่า 40 จุดทั่วงานกาชาด โดยมีทีมงานจิตอาสาที่จะคอยให้ข้อมูลและแนะนำวิธีการคัดแยกขยะที่ถูกต้อง ก่อนที่กรุงเทพมหานครจะนำไปบริหารจัดการขยะในโรงงานขยะต่อไป

เรายังมีทีมวิจัยที่จะไปติดตามการย่อยสลาย ขยะ และถุงขยะยังจะถูกติดตามไปอีก 3 เดือนในสภาวะจริง ผลงานวิจัยนี้เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย จะจุดประกายให้ทุกคนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม


หลังจากนี้ ถุงพลาสติกย่อยสลายได้จะถูกนำไปใช้ในงานกาชาด 2562 ตั้งแต่วันที่ 15-24 พ.ย.2562 ณ สวนลุมพินี เป็นงานแรก เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องของการทดลองใช้ และทีมผู้ผลิตจะติดตามผลเพื่อวัดประสิทธิภาพของการใช้งาน หวังนำรายงานผลขับเคลื่อนการผลิตถุงพลาสติกจากวัสดุธรรมชาติเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยากที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลกในปัจจุบัน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งานกาชาดรณรงค์ลดขยะ หลังปี 2561 มีขยะมากถึง 30 ตันต่อวัน

จี้รัฐบาลออกกฎหมายเก็บค่าถุง 2 บาท แยก 3 ก้อนเข้ากองทุน

เต่าทะเลกินขยะพลาสติกทยอยตาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง