ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เธอจะน่ารักหรือจะร้าย รู้จัก "ช้างป่า" เขาใหญ่ ให้มากขึ้น

สิ่งแวดล้อม
30 ต.ค. 62
15:24
3,169
Logo Thai PBS
เธอจะน่ารักหรือจะร้าย รู้จัก "ช้างป่า" เขาใหญ่ ให้มากขึ้น
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ "รองลาภ สุขมาสรวง" หัวหน้าภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ มก.เจาะประเด็นที่หลายคนอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับ "ช้างเขาใหญ่" ทั้งความเชื่อง ความเครียด เส้นทางหากิน และแนวโน้มประชากรที่แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่อาจบอกได้ว่าจะไม่สูญพันธุ์

ช้างเขาใหญ่กับความเชื่องที่สะสม

"พี่ดื้อ" ช้างป่าเขาใหญ่ เบียดข้างรถนักท่องเที่ยว ก่อนจะขึ้นไปยืนคร่อมรถและทับจนหลังคายุบ เป็นอีกหนึ่งกรณีช้างป่าที่ทำให้เห็นถึงความใกล้ชิดระหว่างคนกับช้าง ที่เริ่มพบเห็นได้บ่อยครั้งขึ้น ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เริ่มเข้ามาในเขาใหญ่ จนทำให้เกิดเศษขยะ เศษอาหาร หรือผลไม้ร่วงหล่น เป็นเหตุให้ช้างป่าเข้ามาหากินในพื้นที่ใกล้ชิดผู้คนมากขึ้น

เมื่อรู้ว่าคนไม่อันตรายกับตัวช้าง ช้างก็จะเริ่มเรียนรู้และเข้ามาใกล้ขึ้น การที่คนไปตั้งชื่อช้างก็แสดงให้เห็นว่าคนพยายามเปลี่ยนให้ช้างป่ามาคุ้นเคยกับคนเพิ่มมากขึ้น 

หัวหน้าภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ ระบุว่า นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังมีการประกอบกับการทำแหล่งโป่ง เพื่อให้ช้างออกมาโชว์ตัว เพื่อให้คนเห็นและสนใจ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งกันระหว่างการอนุรักษ์กับการท่องเที่ยว

 

เขาใหญ่แหล่งพันธุกรรมช้างป่าอีสาน 30 ปี เพิ่มขึ้น 2 เท่า

นายรองลาภ ระบุว่า ประเทศไทยมีการศึกษาประชากรช้างเขาใหญ่ มาแล้ว 3-4 ครั้ง เบื้องต้น เป็นการประเมินประชากรคร่าวๆ เมื่อปี 2524 พบช้างป่าเขาใหญ่ 100 ตัว ต่อมา พ.ศ.2528 ชาวอเมริกันได้ศึกษาพบว่า มีประชากร 150 ตัว ต่อมาประมาณ 30 ปี ในปี 2560 พบว่า ประชากรช้างป่าเขาใหญ่ เพิ่มขึ้นเป็น 300 ตัว ความหนาแน่น 0.15 ตัว ต่อตารางกิโลเมตร

อาจพูดได้ว่าเขาใหญ่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของช้างป่าที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากย้อนไปในอดีต บริเวณเขาใหญ่เป็นแหล่งกระจายของช้างป่าในอดีตที่สำคัญมาก หากดูจากซากฟอสซิลบริเวณอำเภอใกล้เคียงจะพบว่ามีถึง 4 จีนัส

ปัจจุบันเขาใหญ่ก็ยังเป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญ และเป็นแหล่งพันธุกรรม ซึ่งช้างป่าภาคอีสานจะมีความแตกต่างจากช้างป่าภาคอื่น อาจจะกล่าวได้ว่าพื้นที่เขาใหญ่เป็นแหล่งรวมประชากรและพันธุกรรมของช้างป่าที่สำคัญของประเทศไทยเพื่อการอนุรักษ์ในระยะยาว โดยสัดส่วนตัวผู้ต่อตัวเมียก็ใกล้เคียงกัน อยู่ที่ช้างตัวผู้ 1 ตัว ต่อช้างตัวเมีย 1.2 ตัว โครงสร้างประชากรอยู่ในสภาพปกติ

ภาพ : อุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่

ภาพ : อุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่

ภาพ : อุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่

เมื่อเทียบกับแหล่งอื่นๆ ทั้งอินเดีย ศรีลังกา ทำให้มองย้อนกลับไปในอดีตแล้วคาดได้ว่า มีการล่าช้างป่าน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย ทำให้โครงสร้างประชากรของช้างป่าสมบูรณ์มาก หากเป็นโครงสร้างประชากรที่ผิดปกติจะมีประชากรช้างตัวผู้น้อย เพราะพรานจะล่าเพื่อเอางา

สำหรับโครงสร้างประชากรในส่วนของอายุของช้าง พบว่า มีสัดส่วนตัวเต็มวัย เป็นลูก เป็นวัยรุ่น ช้างตัวเมีย 1 ตัว มีสัดส่วนต่อลูก 3 ตัว โดยลูกจะอายุไล่เลี่ยกันคือปีที่ 1 ปีที่ 2 และปีที่ 3 การเพิ่มขึ้นของประชากรช้างเขาใหญ่ค่อนข้างดี จะเห็นได้ว่าสัดส่วนประชากรช้างเพิ่มขึ้นเท่าตัวในเวลาประมาณ 30 ปี 

ช้างป่า VS คน ความขัดแย้ง อุบัติเหตุ และความตาย

แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากรช้างป่าเขาใหญ่ เหมือนจะเป็นข่าวดีสำหรับทั้งโขลงช้างป่าและนักอนุรักษ์ แต่ในสัดส่วนประชากรที่เพิ่มขึ้นนี้ก็ยังมีอัตราการตายอยู่ โดยเกิดจากการออกไปหากินข้างนอก หรือการลักลอบล่า โดยสัดส่วนของประชากรที่เพิ่มขึ้นในปี 1 ที่มีอยู่ ร้อยละ 7-8 อาจจะลดลงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียงร้อยละ 3-4   โดยการออกนอกพื้นที่ของช้างป่าเป็นปัญหาสำคัญที่อาจหมายถึง "ความตาย" ของช้างป่าเหล่านี้ โดยเฉพาะที่ จ.สระบุรี ที่ติดกับนครราชสีมา ทางด้านตะวันออกค่อนมาทางแก่งคอย เรียบไปทาง จ.ปราจีนบุรี จะพบช้างออกจากพื้นที่เป็นจำนวนมาก


หากย้อนไปดูสถิติ 3-4 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ เช่น รถชน หรือเข้าไปทำลายพืชเกษตรโดยรอบพื้นที่ อีกทั้งเขาใหญ่ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น การใช้เส้นทางหลวงจากปราจีนบุรี มาปากช่อง ซึ่งเป็นการรบกวนช้างป่า ที่สามารถรับรู้เสียงรบกวนได้ถึง 10 กิโลเมตร ดังนั้น ช้างในพื้นที่อาจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยเฉพาะบริเวณริมถนน เพราะช้างชอบที่โล่งกว้าง และชื่นชอบหญ้าที่อยู่บริเวณริมถนน ประกอบกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้สร้างแหล่งโป่งให้ช้างออกมาหากินใกล้กับคน

พื้นที่ด้านนอกนี้ก็จะมีขยะ เศษอาหาร พืชเกษตร ที่ทำให้ช้างป่าเปลี่ยนพฤติกรรมที่เริ่มจะติดใจเศษอาหาร จนทำให้อาจเกิดอุบัติเหตุและความขัดแย้งกับคนเพิ่มขึ้นได้ ที่อาจถูกแร้วหรือถูกยิง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ที่มีช้างป่าอาศัยอยู่

"เหวนรก" โซนวิกฤตดูดช้างป่าเขาใหญ่

อีกหนึ่งจุดเสี่ยงภัยที่พรากชีวิตช้างป่าไปหลายสิบตัว นั่นคือ บริเวณ "เหวนรก" ซึ่งเป็นพื้นที่อันตรายไม่ใช่เฉพาะกับช้างป่าเท่านั้น แต่กับสัตว์ป่าทั้งหมด โดยพื้นที่เหวนรก เป็นพื้นที่รอยต่อของภาคกลางกับภาคอีสาน ซึ่งมีระดับความสูงที่แตกต่างกัน หากสังเกตรอยต่อนี้จะมีระยะทางยาวไปตามแนวพนมดงรักจากตาพระยาไล่ลงมาสระบุรี ช่องเขาที่จะข้ามจากภาคกลางขึ้นมาภาคอีสานจะมีไม่กี่แห่งในปัจจุบัน แต่ในอดีตมีเป็นจำนวนมาก ทั้งปากช่อง ด่านขุนทด ที่เป็นที่ราบและปลอดภัย


ปัจจุบันการเดินทางขึ้นลงเส้น จ.ปราจีนบุรีเหลือไม่กี่แห่ง บางปีก็จะเกิดอันตราย อย่างปี 2535 ที่เกิดในช่วงปลายฝน มีน้ำมาก อากาศเริ่มเปลี่ยน สัตว์เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมในการจับคู่ ขณะที่สภาพภูมิประเทศของ 2 ฝั่งห้วยคลองด่านมีโขดหินอยู่ บริเวณด้านบนน้ำจะนิ่ง

ช้างก็จะคิดว่าเดินข้ามได้ แต่สุดท้ายก็ถูกน้ำพัดไป ปี 2535 ตายไป 8 ตัว ขณะที่ปีนี้ก็มีอุบัติเหตุครั้งใหญ่อีกครั้ง ที่มีช้างตกลงไปนับได้ 11 ตัว ที่ถูกน้ำพัดไป ซึ่งเป็นอุบัติเหตุครั้งใหญ่ทางธรรมชาติ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศอีกครั้งในเขาใหญ่ที่เป็นโซนวิกฤต


แม้จะมีปัญหาเกี่ยวกับความขัดแย้ง แต่เขาใหญ่ก็มีข้อได้เปรียบ คือ การเป็น "มรดกโลก" หากรวมกับพื้นที่ที่ติดกับเขาใหญ่อีก 4-5 แห่ง ทั้งทับลาน ปางสีดา ตาพระยา ดงใหญ่ เขาใหญ่ แล้วจะมีพื้นที่กว่า 6,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นป่าผืนใหญ่ และสามารถรองรับประชากรช้างป่าในภาคอีสาน แนวต่อภาคกลาง ที่หากมีการวางแผนและดำเนินการเป็นอย่างดีก็จะสามารถช่วยเฝ้าระวังและสนับสนุนการเพิ่มประชากรของช้างป่าได้

"เส้นทางหากิน - ความเครียด" ของช้างเขาใหญ่ 

ปกติการรวมโขลงของช้างป่าเขาใหญ่จะอยู่ที่ 8-9 ตัว โดยจะอยู่เป็นครอบครัว แต่ในช่วงฤดูหนาวอาจจะรวมโขลงถึง 30 ตัว เพราะมีความเครียดมาก ยิ่งเครียดมากยิ่งรวมตัวกันจำนวนมาก อีกกรณีคือช่วงจับคู่จะมีการรวมโขลงจำนวนมาก เมื่อรวมโขลงกันก็จะรู้สึกปลอดภัย ลดอัตราการตายในโขลงลง เพื่อการอยู่รอด ซึ่งเป็นธรรมชาติของช้างป่า  โดยในแต่ละโขลงจะมีพื้นที่ 100 ตารางกิโลเมตร แต่ละปีแต่ละโขลงอาจจะขยับพื้นที่หากินแตกต่างกันไป

ภาพ : อุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่

ภาพ : อุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่

ภาพ : อุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่


โซนที่พบมากอยู่บริเวณทุ่งหญ้าหนองผักชี ที่มีประชากรช้างป่ามากกว่าที่อื่น ไล่ลงมาทาง จ.สระบุรี ส่วนทางตะวันออกก็จะเบาบางลง มีประชากรช้างอาศัยอยู่ตลอดเส้นทางจนถึงบริเวณเขาภูหลวงไล่ลงมาถึงถนน 304 การกระจายตัวของประชากรช้างป่าจะลดน้อยลงมาตามลำดับ

เขาใหญ่มีช้างป่ากี่โขลงอาจตอบยาก ปีหน้ามีแผนจะติดวิทยุช้างป่า โดยจะดูทั้งการเคลื่อนที่ ขนาดที่อยู่อาศัย รวมถึงความแย้งจากการหากินนอกพื้นที่

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงเปิด "ทางช้างผ่าน” ย้ายจุดจอดรถท่องเที่ยวน้ำตกเหวนรก

10 ข้อปฏิบัติเมื่อเจอ "พี่ดื้อ" ช้างป่าเขาใหญ่และผองเพื่อน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง