ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มติ ครม.ไฟเขียว "ชิมช้อปใช้ เฟส 2" แจก 1,000 บาท

เศรษฐกิจ
22 ต.ค. 62
15:34
5,961
Logo Thai PBS
มติ ครม.ไฟเขียว "ชิมช้อปใช้ เฟส 2" แจก 1,000 บาท
มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการ "ชิมช้อปใช้ เฟส 2" เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะเปิดให้ผู้ที่ไม่เคยได้รับสิทธิ์ลงทะเบียนเพิ่ม 3 ล้านคน เริ่ม 24 ต.ค.นี้ 2 รอบ 06.00, 18.00 น. จำกัดคนลงทะเบียนรอบละ 500,000 คน

วันนี้ (22 ต.ค.2562) นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562 ระยะที่ 2 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก และประสบความสำเร็จด้วยดี ประกอบกับประเทศไทยยังคงต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศและปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศ กระทรวงคลังจึงได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562 ระยะที่ 2 ประกอบด้วย 4 มาตรการ

 

คลอด "ชิมช้อปใช้ เฟส 2" กระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ

1.มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ "ชิมช้อปใช้" ซึ่งประสบความสำเร็จ มีผู้ได้รับสิทธิ์ทั่วประเทศ 10 ล้านคน ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ จึงออกแบบมาตรการ "ชิมช้อปใช้ เฟส 2" เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการเดินทางและใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้มีการกระจายการใช้จ่ายไปยังเศรษฐกิจฐานราก ให้ชุมชนได้รับประโยชน์มากขึ้น

มาตรการ "ชิมช้อปใช้ เฟส 2" จะเปิดให้ผู้ที่ไม่เคยได้รับสิทธิ์ลงทะเบียนเพิ่ม 3 ล้านคน ซึ่งจะได้รับเงินสนับสนุน 1,000 บาท สำหรับการใช้จ่ายผ่าน G-Wallet 1 และเงินชดเชยร้อยละ 15 ของยอดใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาท จากเงินของประชาชนเองผ่าน G-Wallet 2 (เงินชดเชยไม่เกิน 4,500 บาท) เช่นเดียวกับ "ชิมช้อปใช้" เดิมแล้ว ยังจะได้รับสิทธิ์เงินชดเชยร้อยละ 20 ของยอดใช้จ่ายในส่วนที่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท (เงินชดเชยไม่เกิน 4,000 บาท) ซึ่งสิทธิ์นี้จะขยายให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ 10 ล้านคนแรกที่ไม่ถูกตัดสิทธิ์ด้วย

 

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะปรับเวลาเริ่มลงทะเบียนใหม่ โดยแบ่งเป็น 2 รอบ รอบละ 500,000 คน รอบแรกเริ่มลงทะเบียนเวลา 6.00 น. และรอบที่ 2 เริ่มลงทะเบียนเวลา 18.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้สนใจลงทะเบียน ซึ่งจะเริ่มเปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2562 จ านวนวันละไม่เกิน 1 ล้านคน โดยมาตรการ "ชิมช้อปใช้ เฟส 2" ประชาชนสามารถใช้ได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และร้านค้าสามารถสมัครเข้าร่วมมาตรการได้ถึง 31 ธันวาคม 2562 เช่นกัน

ลดค่าโอน-จดจำนอง กระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ 

2. มาตรการลดภาระให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งจะลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจากเดิมร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 เฉพาะการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดิน พร้อมอาคารหรือห้องชุดในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย และการจดทะเบียนการโอน และการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน โดยมีระยะเวลานับตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563

 

 

3. มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ซึ่งจะสนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย โดยการให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ราคาพิเศษและเงื่อนไขผ่อนปรน สำหรับมาตรการสินเชื่อจะเริ่มตั้งแต่วันนี้ (22 ต.ค.) จนถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 โดยมีวงเงินสินเชื่อทั้งหมด 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 2.5 ในช่วง 3 ปีแรก ทั้งนี้ ต้องเป็นที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จพร้อมอยู่ที่ไม่เคยผ่านการครอบครองโดยบุคคลอื่นมาก่อน

เร่งรัดการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม-สัมมนา

4. มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ 2562 ไปพลางก่อน (Front Load) เพื่อให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยรับงบประมาณเร่งรัดเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านดังกล่าว สำหรับวงเงินนั้นได้รับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณ

 

 

นายอุตตม กล่าวว่า กระทรวงการคลังเชื่อมั่นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 ระยะที่ 2 จะช่วยให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่การใช้จ่ายระดับฐานรากจนไปถึงระดับประเทศ ตลอดจนการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่อยู่อาศัย และการลดภาระค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดทะเบียนจำนองที่อยู่อาศัย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่มีรายได้น้อยและปานกลางที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ง่าย เป็นการช่วยบรรเทาภาระให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ การเร่งรัดการเบิกจ่ายของภาครัฐจะช่วยเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้ช่วยลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและกระตุ้นเศรษกิจให้ฟื้นตัวเร็วยิ่งขึ้น

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"คลัง" ตัดสิทธิ์ไม่ใช้ "ชิมช้อปใช้" 1.99 แสนคน

ธ.กรุงไทย เปิดยืนยันตัวตน "ชิมช้อปใช้" 200 สาขา 12-13 ต.ค.นี้ 

โพลชี้คนไทย 1 ใน 3 ร่วมลงทะเบียนชิมช้อปใช้ - หนุนขยายเวลา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง