ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ไบโอไทย" ชี้มีวิธีกำจัดวัชพืชถูกกว่าใช้สารเคมีเกษตร

สิ่งแวดล้อม
22 ต.ค. 62
13:18
5,011
Logo Thai PBS
"ไบโอไทย" ชี้มีวิธีกำจัดวัชพืชถูกกว่าใช้สารเคมีเกษตร
มูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย เผยมีวิธีการอื่นในการกำจัดวัชพืชแทนการใช้สารเคมีเกษตรอย่างพาราควอตและไกลโฟเซต แต่การกำจัดวัชพืชในพืชแต่ละชนิดแตกต่างกันไปและสามารถเลือกวิธีการที่ต้นทุนถูกกว่าได้

เมื่อวานนี้ (21 ต.ค.2562) มูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก BIOTHAI โดยระบุว่า ไบโอไทยวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย (กวอ.) ซึ่งเป็นเอกสารที่คณะกรรมการประกอบพิจารณาการไม่แบนพาราควอต และไกลโฟเซต คราวที่มีการลงมติ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 พบว่าข้ออ้างที่บอกว่าไม่มีทางเลือกในการควบคุมกำจัดวัชพืช ไม่เป็นความจริงแต่ประการใด ทั้งจากข้อมูลที่นำเสนอต่อคณะกรรมการฯเอง ที่คณะกรรมการฯ ละเลยไม่เลือกขึ้นมาใช้ในการพิจารณา และข้อมูลสนับสนุนจากแหล่งอื่นๆ

"อ้อย-ข้าวโพด" มีวิธีกำจัดวัชพืชถูกกว่าใช้สารเคมี

จากการวิเคราะห์โดยไบโอไทยจากข้อมูลของ กวอ.พบว่าในพืชสำคัญ 2 ชนิด คือกรณีอ้อย และข้าวโพดนั้น มีวิธีการทดแทนที่ต้นทุนถูกกว่าและแพงกว่า หากมีการแบนทั้งพาราควอต และไกลโฟเซต ก็สามารถเลือกวิธีการที่ต้นทุนถูกกว่าได้ การจำกัดวัชพืชในพืชทั้ง 2 ชนิดจึงไม่น่ามีปัญหาแต่ประการใด

"ยางพารา" ใช้การปลูกพืชคลุมดิน-เครื่องตัดหญ้า

กรณียางพารา ซึ่งส่วนใหญ่จะมีปัญหาวัชพืชในช่วงยางอายุน้อย 1-5 ปีแรกนั้น สามารถใช้การปลูกพืชคลุมดิน และการใช้เครื่องตัดหญ้า ในการจัดการวัชพืชได้ จากการศึกษาในพื้นที่ จ.สงขลา พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ 89% ใช้วิธีการจัดการวัชพืชโดยไม่ใช้สารเคมีอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่ยากที่เกษตรกรจะปรับเปลี่ยนไปสู่วิธีการหลักที่ชาวสวนยางส่วนใหญ่ปฏิบัติอยู่ การปลูกยางพาราเชิงเดี่ยวนั้นมีปัญหาเรื่องราคาในระยะยาว ควรปรับการปลูกพืชนี้ไปสู่การทำสวนยางยั่งยืน โดยการปลูกพืชอาหารในขณะสวนยางยังเล็ก และเพิ่มการปลูกไม้ยืนต้น เพื่อใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ หรือไม้ผลผสมผสานจะดีกว่า

"ปาล์มน้ำมัน" ใช้วิธีเดียวกับ "ยางพารา" กำจัดวัชพืช

เช่นเดียวกับกรณีของปาล์มน้ำมัน ซึ่งปลูกในสภาพพื้นที่ใกล้เคียงกัน สามารถใช้วิธีการเดียวกันกับยางพารา ส่วนกรณีเกษตรกรจะใช้สารทดแทนนั้น ข้อมูลล่าสุดพบว่าราคาสารเคมีทดแทนนั้นมีราคาลดลงเหลือเพียง 2 เท่าของพาราควอต และข้อมูลจากการชี้แจงของตัวแทนจากกรมวิชาการเกษตรต่อกมธ.วิสามัญเรื่องสารเคมี ยังพบว่ามีโอกาสที่สารดังกล่าวจะลดต่ำกว่าพาราควอตด้วยซ้ำ ไบโอไทยไม่สนับสนุนการใช้สารเคมีฯ ทดแทนในพื้นที่ปลูกปาล์ม แต่เห็นว่าควรใช้พืชคลุมดิน เครื่องตัดหญ้า หรือจัดระบบการปลูกพืชแบบผสมผสานจะดีกว่า

การที่เกษตรกรบางกลุ่มอ้างว่า การแบนพาราควอตจะทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศไทยก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจากปัจจุบันมาตรฐานปาล์มน้ำมัน RSPO next นั้น กำหนดการห้ามใช้พาราควอตเป็นมาตรฐานบังคับแล้ว

แนะรัฐบาลรับภาระต้นทุนช่วยผู้ปลูก "มันสำปะหลัง"

ส่วนกรณีมันสำปะหลัง ซึ่งประสบปัญหาต้นทุนสูง และราคาผลผลิตตกต่ำอยู่เนืองๆ นั้น ในระยะยาวควรปรับไปสู่การปลูกมันสำปะหลังที่เพิ่มมูลค่าเพิ่มมากกว่าผลิตเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ หรือส่งออกเป็นเป็นวัตถุดิบราคาถูกเอทธิลแอลกอฮอล์ โดยรัฐบาลอาจช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรในการรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

แบน "พาราควอต-ไกลโฟเซต" สามารถทำพร้อมกันได้

โดยสรุป การแบนพาราควอตและไกลโฟเซตพร้อมกันสามารถทำได้ โดยกระทรวงเกษตรฯ ต้องสนับสนุน เรื่องการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชคลุมดิน การส่งเสริมให้เกิดอาชีพบริการเครื่องจักรกำจัดวัชพืช เช่นเดียวกับการให้บริการรถไถนา หรือรถเก็บเกี่ยวในข้าว/ข้าวโพด ทางเลือกในการใช้สารอื่นสำหรับเกษตรกรที่ยังไม่สามารถปรับไปสู่การใช้วิธีการอื่นที่ไม่ใช้สารเคมี

ในขณะที่รัฐบาลต้องมีงบประมาณสำหรับสนับสนุนเกษตรกรบางส่วน ซึ่งไบโอไทยคาดว่าจะใช้งบประมาณไม่มากนัก เช่น กรณีมันสำปะหลัง ซึ่งน่าจะเป็นพืชที่มีต้นทุนในการปรับตัวสูงขึ้น (จากข้อมูลของ กวอ.) จะใช้งบประมาณสนับสนุนช่วงเปลี่ยนผ่านเพียง 500-700 ล้านบาท/ปีเท่านั้น เมื่อรวมกับการสนับสนุนในพืชอื่นบางพืช งบประมาณเหล่านี้จะเป็นแค่เพียงเศษเสี้ยวของต้นทุนผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากการอนุญาตให้ใช้พาราควอตและไกลโฟเซตต่อไป

แบนสารพิษ 2 ชนิดนี้ไม่กระทบความมั่นคงทางอาหาร

การอ้างว่าการแบน 2 สารพิษนี้จะทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องเหลวไหล เมื่อมีวิธีการทางเลือกและมาตรการดังที่ได้กล่าวแล้ว และดังที่ไบโอไทยได้เคยเปิดเผยสำรวจสถิติผลผลิตต่อไร่ของหลายประเทศที่แบนพาราควอตในพืชหลายชนิด พบว่าการแบนพาราควอตนอกจากจะไม่ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงแล้ว ยังมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอีกด้วย

การแบนสารพิษร้ายแรง จะเป็นโอกาสสำคัญของประเทศในการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ผลิตวัตถุดิบราคาถูกๆ ที่ดำเนินมานาน 4-5 ทศวรรษ และไม่สามารถแข่งขันเรื่องต้นทุนกับต่างประเทศได้ ให้กลายเป็นการผลิตที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อธรรมชาติ และมีความยั่งยืน โดยไม่ต้องพึ่งพาสารพิษร้ายแรงได้ในอนาคตอันใกล้

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง


มติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ยกเลิก 3 สารเคมีเกษตร 

ตะลึง! สารเคมีอันตรายเกลื่อนป่าต้นน้ำภูผาเหล็ก

ไทม์ไลน์สู่เส้นทางแบน 3 สารเคมีเกษตร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง