ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี แบ่งปันประสบการณ์การสอน 11 ประเทศ

สังคม
16 ต.ค. 62
20:34
986
Logo Thai PBS
ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี แบ่งปันประสบการณ์การสอน 11 ประเทศ

เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2562 ครูดีเด่นที่สร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์จาก 11 ประเทศ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับพระราชทาน รางวัลครูสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3 ปี 2019 ได้ขึ้นเวทีการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 2 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความร่วมมือของครูที่มีความโดดเด่นหลากหลาย


ครูไพสะนิด ปันยาสะหวัด จากโรงเรียนมัธยมศึกษาสันติภาพ เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว ใช้ศาสตร์ภาษาและวรรณคดี ทำให้เด็ก ๆ เข้าใจรากเหง้าทางวัฒนธรรม และกล้าแสดงอัตลักษณ์ของตนเองผ่านศิลปะการแสดง บอกว่า ทุก ๆ เดือนเขาจะมีรางวัลเล็กน้อยให้นักเรียนที่มีผลการเรียนดี เพื่อเป็นกำลังใจและสร้างแรงผลักดันให้เด็ก ๆ


ครูหม่องจ๋าย จากโรงเรียนจ๊ะมี่ เมืองปะเตงจี ประเทศเมียนมา เปลี่ยนโลกการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้ง่ายสำหรับเด็ก ๆ ชนบท ด้วยหวังให้พวกเขาก้าวสู่เวทีโลก บอกเทคนิคการใช้เสียงดังฟังชัดเป็นตัวอย่างให้ลูกศิษย์กล้าพูด และบอกว่าคุณสมบัติอีกข้อในการเป็นครู คือ ต้องใจเย็น และไม่ทอดทิ้งเด็กที่เรียนไม่ทัน


กลุ่มที่ขยายการศึกษาเข้าไปในชุมชนชนบทที่ห่างไกลและมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ครูลูร์เดส รันเจล กอนซัลเวซ ประเทศติมอร์-เลสเต ที่ทำงานอยู่บนภูเขา บอกว่า เธอให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมในทุก ๆ กิจกรรม ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน และให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมพัฒนาโรงเรียนในทุกมิติ

ครูสาดัท บี มินันดัง จากเกาะมินดาเนา ที่อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ประเทศฟิลิปปินส์ ทำงานอยู่กับเด็ก ๆ จากชุมชนมุสลิม บอกว่า เด็กทุกคนต้องได้เรียน เขาใช้วันหยุดบ่ายวันเสาร์ นำความรู้ใส่รถเข็นเข้าไปเสริฟให้เด็ก ๆ ถึงชุมชนข้างถนน แก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา

เช่นเดียวกับครูสุเทพ เท่งประกิจ จากอำเภอกาบัง จังหวัดยะลา ประเทศไทย ที่ใช้ภาษายาวีสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองให้พาลูก ๆ เข้าสู่ระบบการศึกษา ผ่านกระบวนการน้ำชายามเช้าเข้าถึงชุมชน


กลุ่มที่สอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครูรูดี ฮาร์ยาดี จากโรงเรียนอาชีวศึกษาในเมืองเศรษฐกิจอันดับ 4 ของอินโดนีเซีย จัดห้องเรียนเทคโนโลยีไร้สาย โดยใช้โมเดลที่เขาออกแบบขึ้น ชวนนักเรียนเป็นผู้สร้างนวัตกรรมอย่างเป็นขั้นตอน

ครูเล ทัน เลียม จากโรงเรียนชนเผ่าทางตอนใต้ ประเทศเวียดนาม ใช้คำขวัญ “เล่าให้กันฟัง ส่งข่าวให้กันทราบ อธิบายให้เข้าใจ และก้าวไปด้วยกัน” เปิดชมรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชวนนักเรียนคิดค้นสิ่งประดิษฐ์จากแรงบันดาลใจ และปัญหาสิ่งแวดล้อม ตามสถานการณ์จริง

 


ครูลอย วิรัก จากโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดกำปงชนัง ประเทศกัมพูชา ที่เป็นครูฟิสิกส์ บอกว่า สื่อการสอน คือหัวใจสำคัญในการถ่ายโอนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความเชื่อนี้ ทำให้เขาลงทุนควักเงินส่วนตัวซื้อวัสดุอุปกรณ์ทำสิ่งประดิษฐ์เพื่อการเรียนรู้ของเด็ก ๆ


"ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" เป็นแนวคิดที่หลายคนให้ความสนใจ ครูเค เอ ราซียะฮ์ ครูวัยเกษียณแห่งโรงเรียนมัธยมในเมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย บอกว่า เธอสอนเด็กพิเศษให้เป็นคนนวดสปาที่มีความสามารถ และพาพวกเขาใช้ศิลปะการแต่งหน้า สร้างความสนุกและลดความแปลกแยกระหว่างเด็กพิเศษกับเด็กทั่วไป โดยจะนำเงินรางวัลที่ได้ไปลงทุนเปิดร้านสปาตามย่านเศรษฐกิจให้เด็ก ๆ ต่อยอด

ครูฮาจะฮ์ บินติ ฮาจี อัสปาร์ ครูใหญ่จากประเทศบรูไนดารุสซาลาม เปิดศูนย์การศึกษาเพื่อเด็กพิเศษในโรงเรียน โดยให้โจทย์ท้าทายกับเพื่อนครูในการพัฒนาโปรแกรมการเรียนรู้ร่วมกับผู้ปกครอง

และครูแองจิลิน ชาน สิ่วเวิ่น จากประเทศสิงคโปร์ พบจุดเปลี่ยนจากการมีเพื่อนเป็นเด็กพิเศษที่ต้องลาออกจากโรงเรียนกลางคัน เพราะคนรอบข้างไม่เข้าใจ ทำให้เธอมุ่งมั่นจะเข้าสู่อาชีพครูเพื่อแก้ปัญหานี้ เธอบอกว่า การเป็นครูเพื่อเด็กพิเศษ ต้องคิดถึงความก้าวหน้าที่มีผลต่อพัฒนาการของเด็ก ๆ จัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตของพวกเขา และใช้เทคโนโลยีจัดโปรแกรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมเพื่อยืนยันคำกล่าวว่า ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 2019

"วันครูแห่งชาติลาว" รู้จัก "ครูคุณภาพ สร้างคนคุณภาพ"

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง