วันนี้ (2 ต.ค.2562) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ที่กระทรวงเกษตรฯ ยืนยันจุดยืน ต้องการให้ยกเลิกใช้สารเคมีเกษตรที่มีความเสี่ยงสูง แต่การพิจารณายกเลิกเป็นอำนาจของคณะกรรมการวัตถุอันตรายตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้มีการพูดคุยกันมานานถึง 2 ปีแล้ว แต่ติดขัดตรงไหน คณะกรรมการวัตถุอันตรายจึงยังยกเลิกไม่ได้ ซึ่งหากคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณายกเลิก ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ก็พร้อมยกเลิกทันที
นายเฉลิมชัยระบุด้วยว่า จุดยืนของเขาตรงกับ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร โดยมอบหมายให้ดูแลเรื่องนี้ และพูดคุยกันตลอดเวลา แต่เมื่อยังไม่มีมติให้ยกเลิก กระทรวงเกษตรฯ ก็ต้องดำเนินการในกรอบที่ทำได้ ส่วนเรื่องของสารทดแทน ตอนนี้มีคณะทำงานที่ศึกษา ก็พบว่ายังไม่มีสารทดแทนใด เพราะยังเป็นสารเคมีที่มีค่าความเป็นพิษเช่นเดียวกัน จึงมองไปที่เรื่องสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งต้องส่งเสริมไปถึงเกษตรแปลงใหญ่
"เฉลิมชัย"ลั่นไม่เคยพบพูดคุย บ.ยักษ์ใหญ่สารเคมีเกษตรฯ
ส่วนกระแสข่าวว่า บริษัทผู้จำหน่ายสารเคมีเกษตรขนาดใหญ่เข้าพบสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ขอยืนยันว่า ไม่เคยพบพูดคุยด้วย โดยระบุว่า "ชีวิตนี้ไม่เคยกินน้ำแข็งเปล่าก้อนเดียวกับบริษัทยา ผมเส้นหนึ่งก็ยังไม่เคยเห็น ว่าใครเป็นบริษัทยาที่ไหน เพราะฉะนั้นข่าวที่ออกไป ไม่ทราบว่ามีจุดประสงค์ใด ถ้าอยากทราบให้มาถามผม"
ส่วนที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เสนอให้รัฐบาลออกพระราชกำหนดยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตรเพื่อแก้ปัญหาที่ค้างคามานานนั้น นายเฉลิมชัย ระบุว่าเรื่องนี้ไม่ใช่มติพรรค ส่วนการพิจารณาออก พรก.เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะพิจารณา
มีรายงานว่า การให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนเกี่ยวกับสารเคมีเกษตรของนายเฉลิมชัยในวันนี้มีขึ้นหลังจาก นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ได้โพสต์ภาพในเฟซบ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha มีการเผยแพร่หนังสือราชการลงนามโดย น.ส.ดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการผลิต เกี่ยวกับการยกเลิกสารพาราควอต ไกลโฟเซต และ คลอร์ไพริฟอส
โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า กรมวิชาการเกษตร ได้ยกร่างหนังสือเรียนปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อขอให้พิจารณาจัดวัตถุอันตราย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ ๔ คือ ห้ามผลิต นําเข้า ส่งออก และจําหน่าย เมื่อวันที่ ๑๗ ก.ย. ๒๕๖๐
และได้นำหนังสือดังกล่าว เรียนหารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ ๑๘ ก.ย. ๒๕๖๒ ถึงแนวทางในการดําเนินการและได้รับข้อเสนอแนะว่า ควรดําเนินการตามมติ คณะกรรมการวัตถุอันตรายในการให้จํากัดการใช้วัตถุอันตรายพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส และได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรจัดทําและดําเนินการมาตรการจํากัดการใช้ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้จัดทํา และอยู่ระหว่างดําเนินการตามมาตรการจํากัดการใช้ดังกล่าว
โดย นพ.ธีรวัฒน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งข้อสังเกตว่า จุดยืนของนายเฉลิมชัย ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯสวนทางกับท่าทีของ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะต้องยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดภายในปี 2562 หรือไม่
"มนัญญา" ไม่หวั่นถูกขู่ปลดจากตำแหน่ง
ขณะที่มีรายงานว่า บ่ายวันนี้ น.ส.มนัญญา ได้นัดผู้สื่อข่าวเพื่อออกตรวจสต็อกสารเคมีเป็นครั้งที่สอง พร้อมประกาศไม่หวั่นไหว หลังมีบริษัทสารเคมียักษ์ใหญ่ ขู่จะปลดออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผลประกาศจะยกเลิกสารเคมีเกษตรที่มีความเสี่ยงสูง ที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์นับหมื่นล้าน โดยเตรียมประชุมร่วมกรรมการ 4 ฝ่ายตามมติคณะกรรมวัตถุอันตรายเพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาสารเคมีเกษตรฯ เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการวัตถุอันตราย