ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"มนัญญา" สุ่มตรวจสต็อกและกระบวนการนำเข้าสารเคมีเกษตร

สิ่งแวดล้อม
23 ก.ย. 62
14:46
4,792
Logo Thai PBS
"มนัญญา" สุ่มตรวจสต็อกและกระบวนการนำเข้าสารเคมีเกษตร
"มนัญญา ไทยเศรษฐ์" รมช.เกษตรฯ บุกท่าเรือ - นิคมบางปู สุ่มตรวจสต็อก การนำเข้าสารเคมีเกษตรที่มีความเสี่ยงสูง พบมีข้อมูลไม่ตรงกับที่รายงานไว้กับกรมวิชาการเกษตร จ่อเสนอแก้กฎหมาย ให้เอื้อต่อการลงพื้นที่ตรวจสอบ เป็นไปตามหลักสากล

วันนี้ (23 ก.ย.2562) น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ และพื้นที่ภายในนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ เพื่อติดตามมาตรการดูแลการนำเข้าสินค้าและวัตถุอันตรายทางการเกษตร โดยก่อนหน้านี้ แจ้งกับสื่อมวลชนเพียงว่า จะลงพื้นที่ติดตามการแก้ปัญหาสารเคมีเกษตรที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด โดยไม่บอกพิกัดสถานที่


รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางถึงด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ กรมวิชาการเกษตร การท่าเรือแห่งประเทศไทย ช่วงเวลาประมาณ 9.00 น. โดยทันทีที่เดินทางถึง น.ส.มนัญญา ได้เข้าสอบถามเจ้าหน้าที่ ว่าขณะนี้ มีการนำเข้าสารเคมีใดบ้าง และมีขั้นตอนการดำเนินการตรวจนำเข้าที่เข้มงวดอย่างไร

เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลเพียงว่า มีสารเคมีที่แจ้งการนำเข้ามาล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (20 ก.ย.) อยู่ในกลุ่มป้องกันกำจัดโรคพืชและยาฆ่าแมลง และยืนยันว่าไม่มีสารเคมี 3 คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ตามที่กระทรวงฯ ประกาศห้ามนำเข้า


จากนั้น รมช.กระทรวงเกษตรฯ เดินทางไปยังนิคมอุตสาหกรรมบางปู ที่บริษัทแห่งหนึ่ง เพื่อจะขอเปิดตู้คอนเทนเนอร์ตรวจสอบการนำเข้า  โดยต้องการสุ่มตรวจจากตู้คอนเทนเนอร์ว่าเป็นอย่างไร เป็นไปตามขั้นตอน เพื่อป้องกันการนำเข้าที่ไม่ตรงกับตามที่แจ้งขออนุญาตหรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ไม่สามารถเปิดตู้คอนเทนเนอร์ได้ เพราะเป็นไปตามระเบียบการท่าเรือ เพื่อป้องกันอันตราย จากวัตถุอันตราย รมช.กระทรวงเกษตรฯ จึงเห็นว่าข้อมูลเหล่านี้ จะต้องนำไปเพื่อเสนอปรับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้เอื้อต่อการตรวจสอบที่เป็นไปตามหลักสากล

ไม่ว่าสารชนิดไหนก็แล้วแต่ ต้องมี พ.ร.บ.ควบคุม การกำหนดมาตรฐาน ต้องมีมากกว่านี้ กำชับมากกว่านี้ ทุกอย่างมันส่งผลกับชีวิตมนุษย์ ต้องบูรณาการใหม่ มาดูใหม่ ทั้งการตรวจโรงงาน ขออนุญาต ใบรับรอง มาตรฐานของโลก ต้องยกระดับทุกอย่าง สิ่งสำคัญคือประชาชนในประเทศต้องปลอดภัย 

เมื่อตรวจสอบข้อมูลการนำเข้าและสต็อกสารเคมีเกษตร พบว่าล่าสุด มีการนำเข้าสารเคมี 2 ชนิด อยู่ในกลุ่มยาฆ่าแมลง และยาฆ่าหญ้า ซึ่งตรวจสอบเบื้องต้นพบมีเอกสารการนำเข้าถูกต้อง แจ้งนำเข้าตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.


เมื่อสอบถามถึงการนำเข้าสารเคมี 3 ชนิด ยืนยันว่าตอนนี้ไม่มีการนำเข้าแล้ว เพราะใบอนุญาตนำเข้าหมดอายุตั้งแต่ 30 มิ.ย. ซึ่งตอนนี้สต็อกได้ส่งไปตามร้านค้าต่าง ๆ หมดแล้ว

แต่ที่น่าแปลกใจ คือ ปริมาณการนำเข้าที่บริษัทแจ้งไว้ ในปี 2562 พบ มีสารพาราควอตนำเข้า 190 ตัน และไกลโฟเซต 370 ตัน กลับน้อยกว่าข้อมูลที่กรมวิชาการเกษตรจัดเก็บเป็นรายงานไว้ ว่ามีการนำเข้าพาราควอตมากถึง 210 ตัน และไกลโฟเซต 440 ตัน ซึ่งนายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ ที่ปรึกษา รมช.กระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า จะต้องไปดำเนินการตรวจสอบอีกครั้งว่ามีข้อผิดพลาด หรือตกหล่นที่ใด จากการตรวจสอบครั้งนี้ ยังไม่สามารถบอกได้ว่าผิดพลาดที่จุดใด ระหว่างบริษัทหรือกรมวิชาการเกษตร โดยต้องพิจารณาเป็นรายกรณี

ข้อมูลที่ไม่ตรง กลับไปย้อนดูว่า ข้อมูลจริงคืออะไร ต้องกลับไปดูเป็นรายว่า การที่ขอนุญาต นำเข้ามาครบไหม แล้วเอาข้อมูลไหนมารายงาน เพื่อให้ข้อมูล ระหว่างผู้นำเข้า ผู้อนุญาต และการบันทึกข้อมูลต้องตรงกัน เมื่อใดที่การอนุญาต นำเข้า และการบันทึกข้อมูลไม่ตรงกัน จะมีปัญหาว่าข้อมูลที่มีมาขาดความน่าเชื่อถือ 

รมช.กระทรวงเกษตรฯ ยังระบุด้วยว่า ขณะนี้มีสารทางเลือกหลากหลาย ที่สามารถทดแทนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่ามีสารใดบ้าง และยังไม่ได้ให้คำตอบว่าจะสรุปเพื่อเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้เมื่อไหร่

ด้านเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร ระบุว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ข้อมูลที่ออกมาไม่ตรงกัน ของบริษัทและกรมวิชาการเกษตรที่จัดเก็บไว้ สะท้อนปัญหาระบบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐอย่างชัดเจน ซึ่ง รมช.กระทรวงเกษตรฯ จะต้องยืนหยัดการแก้ไขปัญหา และกำหนดมาตรการเพื่อเสนอทางเลือกในการกำจัดศัตรูพืช โดยไม่ต้องใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด รวมถึงรวบรวมข้อมูลให้หนักแน่นรอบด้าน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อพิจารณาทบทวนยกเลิกสารเคมีทั้ง 3 ชนิดโดยเร็ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"มนัญญา" ย้ำเลิกสารเคมีเกษตรอันตรายแน่! ปลายปีนี้

ผู้ตรวจฯ ส่งหนังสือถึงนายกฯ ขีดเส้นแบนพาราควอตสิ้นปี 62

คกก.วัตถุอันตราย ให้เวลา ก.เกษตรฯ 60 วันหาสารทดแทน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง