ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อนค. - ภาคประชาชน แถลงไม่หยุดตรวจสอบ "อีอีซี"

เศรษฐกิจ
13 ก.ย. 62
17:17
943
Logo Thai PBS
อนค. - ภาคประชาชน แถลงไม่หยุดตรวจสอบ "อีอีซี"
เปิดรายชื่อ! พบ ส.ส.รัฐบาล "เกียรติ - พิสิฐ" ประชาธิปัตย์โหวตสวน "เห็นชอบ" ตั้ง กมธ.ศึกษาปัญหาอีอีซี ด้าน ส.ส.อนาคตใหม่ - เครือข่าย ปชช.ภาคตะวันออก แถลงเดินหน้าต่อ แม้ไม่ได้ตั้ง กมธ. แต่ไม่หยุดตรวจสอบโครงการอีอีซี

 

วันนี้ (13 ก.ย.2562) กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เผยแพร่แถลงการณ์ โดยเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก "ตั้งกลไกคู่ขนานตรวจสอบ EEC" หลังผลการลงมติในสภาผู้แทนราษฎร "ไม่เห็นด้วย" ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาผลกระทบโครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยมีผลการลงมติ 231 ต่อ 224 แล้วนั้น

เนื้อหาสำคัญแถลงการณ์​ ระบุ ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ประชาชนในภาคตะวันออก ได้มีการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการดำเนินโครงการอีอีซี โดยเฉพาะการจัดทำร่างผังเมืองที่ไม่เป็นไปตามหลักการสากล เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน มากกว่าคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และประชาชนในท้องถิ่น ตลอดจนเดินทางมายื่นหนังสือต่อรัฐบาล

เราเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญโครงการอีอีซี เพื่อเป็นกลไกตรวจสอบโครงการในระบบรัฐสภา ป้องกันไม่ให้เกิดการเสียผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน จากโครงการที่เกิดขึ้นโดยมาตรา 44 แต่ด้วยผลของการลงมติของสภาฯ ทำให้การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าวต้องตกไป

นอกจากนี้ ยังระบุว่า แม้ผลการลงมติของสภาฯ ทำให้การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าวต้องตกไป แต่เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก จะเดินหน้าตรวจสอบนโยบายและการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยจัดตั้งกลไกคู่ขนาน ที่มีองค์ประกอบจากหลายภาคส่วน เช่น ประชาชน ภาคประชาสังคมในภาคตะวันออก นักวิชาการ และพรรคการเมือง เพื่อสร้างกลไกตรวจสอบการดำเนินโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่อีอีซี รวมถึงผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ โดยมีองค์กรร่วมลงชื่อท้ายแถลงการณ์ 9 องค์กร 
 

อนค. แถลงผิดหวัง ผลโหวตไม่เหมือนการอภิปราย

หลังเสร็จสิ้นการลงมติดังกล่าว ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวแสดงความผิดหวังผลการลงมติ แม้ไม่เกินความคาดหมาย เช่น นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า แปลกใจที่ในการอภิปรายญัตตินี้ ร่วม 30 คน มีผู้อภิปรายเห็นด้วยกับโครงการอีอีซีเพียง 1 คน เหตุใดผลการลงมติ จึงพบว่า ส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาล กลับไม่ต้องการให้มีการตั้ง กมธ. จึงตั้งคำถามว่า สิ่งเหล่านี้ สะท้อนความไม่มีอิสระในการตัดสินใจหรือไม่

ด้าน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า ผลการลงมติไม่ผิดความคาดหมาย เนื่องจากตลอดเวลาที่พรรคฝ่ายค้าน รวมถึงพรรคอนาคตใหม่ ได้นำเสนอญัตตินี้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 ก.ค. กว่าจะได้แถลงและอภิปรายในสภาฯ ก็วันที่ 5 ก.ย. ซึ่งกินเวลาถึง 2 เดือน สะท้อนว่า มีการยื้อยุดระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล


น.ส.ศิริกัญญา ยังกล่าวอีกว่า หน้าที่ของ กมธ.วิสามัญ มีหน้าที่เพียงแค่ศึกษาผลกระทบ ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งผลการศึกษาจะถูกนำเสนอต่อสภาฯ ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ชะลอ ยับยั้ง หรือยกเลิกโครงการใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ฝ่ายรัฐบาลกลับไม่ยินยอมให้ตั้ง กมธ.วิสามัญ ครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องทางการทำงานนอกสภาฯ ร่วมกับภาคประชาชน และการดำเนินการตรวจสอบผ่านการตั้งอนุกรรมาธิการต่าง ๆ

ในกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ดิฉันนั่งเป็นประธาน เราก็จะดำเนินการตรวจสอบโครงการอีอีซีด้วย จากนี้ไป เราพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคอนาคตใหม่ จะติดตามตรวจสอบโครงการอีอีซี อย่างต่อเนื่อง

"เกียรติ-พิสิฐ" โหวตสวน แต่ผู้เสนอญัตติโหวตไม่เห็นด้วย

นอกจากนี้ มีการเปิดรายชื่อผู้ร่วมลงมติดังกล่าว พบว่ามี ส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาล อย่าง นายเกียรติ สิทธีอมร และนายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ลงคะแนน "เห็นด้วย" กับการตั้ง กมธ.ดังกล่าว

ขณะที่ ผู้ยื่นเสนอญัตติตั้ง กมธ.ที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของพรรคฝ่ายรัฐบาล อย่างพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ กลับลงมติไม่เห็นด้วยกับญัตติที่ตนเป็นผู้เสนอ เช่น นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ, นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ และนายธารา ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สภาฯ ตีตก ญัตติขอตั้ง กมธ.ศึกษาปัญหา "อีอีซี"

เริ่มแล้ว! ญัตติด่วนขอตั้ง กมธ.อีอีซี ชี้ปัญหา-ของบพัฒนาให้สมดุล

"อนาคตใหม่" ขอชะลอผังการใช้ประโยชน์ที่ดินอีอีซี ตั้งขอสังเกตเอื้อกลุ่มทุน

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง