เกิดความความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง สำหรับ ร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี หลังชาวบ้านหลายพื้นที่ใน จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ออกมาคัดค้าน และขอให้รัฐบาลทบทวนร่างแผนผังฉบับดังกล่าว เพราะเห็นว่า ขาดการมีส่วนร่วม ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิต ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
ที่ผ่านมา ชาวบ้านใช้วิธีนัดเคลื่อนไหวที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหวังให้คณะรัฐมนตรีทบทวนเรื่องนี้ ก่อนการพิจารณาเห็นชอบ ขณะที่กลไกในสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ได้หยิบยกกรณีร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินอีอีซี ขึ้นมาอภิปราย เช่น กระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี เรื่องความโปร่งใสในการอนุมัติผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินอีอีซี โดย นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคอนาคตใหม่ ที่ต้องการทราบว่า การจัดทำผังเมืองในโครงการขนาดใหญ่เป็นไปตามหลักการหรือไม่ และเหตุใดจึงอนุมัติผังเมืองที่เป็นเขตพื้นที่ของนายทุนถือครอง ซึ่ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย ชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรี
ทีมข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่ ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา หนึ่งในหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายอีอีซี พร้อมถูกตั้งข้อสังเกตการเข้ามาของอุตสาหกรรม ท่ามกลางคำถามถึงกระบวนการได้มา และความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์ที่ดิน นั่นก็คือ "โครงการนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้" ซึ่งถูกคาดหมายให้เป็นการต่อยอดธุรกิจ 5 อุตสาหกรรมอนาคต หรือ News S Curve ในพื้นที่อีอีซี
โครงการฯ นี้ เป็นการลงทุนของ "บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)" ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ไฮเทค รองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า สอดรับกับข้อมูลในรายงานของบริษัทที่ปรึกษาโครงการจัดทำผังเมืองรวมชุมชนบางปะกง ในปี 2561 พบว่า บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ เป็นผู้ยื่นเรื่องขอเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ ต.เขาดิน กว่า 3,500 ไร่ จากสีเขียว พื้นที่เกษตรกรรม เป็น สีม่วง พื้นที่สำหรับอุตสาหกรรม
แต่โครงการที่เริ่มดำเนินการขุด ถมดิน และก่อสร้างไปก่อนหน้านี้ กลายเป็นชื่อของ “บริษัท ดับเบิลพีแลนด์ จำกัด” ที่เข้ามาพัฒนาโครงการ กระทั่งล่าสุด ทุกอย่างหยุดชะงัก เครน และเครื่องจักรใหญ่ ถูกถอนออกจากหน้างาน
แม้อาจเป็นสัญญาณบวกสำหรับชาวบ้านที่คัดค้านโครงการ หลังพวกเขาเข้าแจ้งความ กระทั่งหน่วยงานที่กำกับดูแล ต้องสั่งระงับการก่อสร้างชั่วคราว แต่ชาวบ้านก็ยังไม่วางใจ
น.ส.นรี ศรประสิทธิ์ เช่าที่ดินบริเวณ ต.เขาดิน กว่า 30 ไร่ มาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ แต่ตอนนี้เจ้าของที่ ขายที่แปลงดังกล่าวให้กับโครงการฯ แล้ว แต่เธอยังยืนยันสู้ต่อแม้จะไม่ได้เป็นเจ้าของ เพราะเชื่อว่ากระบวนการได้มาซึ่งที่ดินของโครงการฯ ไม่ชอบธรรม ที่สำคัญ คือ ภาครัฐไม่สามารถตอบได้ว่า เพราะเหตุใด จึงยอมให้มีอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์
ที่บริเวณนี้อุดมสมบูรณ์มากจริง ๆ ตั้งแต่เกิดมา ก็ทำกินตรงที่ผืนนี้มาตลอด ที่นา ยังมีปู มีปลา มีกุ้ง จากแม่น้ำบางปะกงให้ได้กินทุกวัน ไม่เฉพาะแค่มีความสำคัญกับคนในพื้นที่ แต่กับคนต่างพื้นที่ก็มีหลายคนที่มาหาจับสัตว์น้ำบริเวณนี้ หากอุตสาหกรรมเอาที่ตรงนี้ไปจริง ๆ ทุกอย่างก็คงไม่เหลืออะไร
ที่มาฟ้องศาลปกครอง "บลูเทค ซิตี้"
นอกจากความกังวลที่อาจต้องสูญเสียที่ดินทำกินดั้งเดิม แต่หากพิจารณาจากขั้นตอนการได้มาซึ่งที่ดินของโครงการบลูเทค ซิตี้ฯ ก็มีหลายประเด็นให้ตั้งข้อสังเกต จนนำไปสู่การยื่นฟ้องศาลปกครอง เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2561
คดีนี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวบ้าน รวม 15 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง คณะกรรมการนโยบายอีอีซี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และนายก อบต.เขาดิน
โดยขอให้ศาล มีคำสั่งให้หน่วยงานท้องถิ่นเพิกถอน หรือ ระงับการอนุญาต เกี่ยวกับการขุดดิน ถมดิน ของ บริษัท ดับเบิลพีแลนด์ จำกัด พร้อมขอให้คณะกรรมการนโยบายอีอีซี ระงับการใช้อำนาจกำหนดเขตส่งเสริมในอีอีซี พื้นที่ ต.เขาดิน แก่บริษัทนี้ หรือ บริษัทอื่น จนกว่าจะมีการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน (EHIA) ในคำฟ้อง ยังขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดี ต้องร่วมชดใช้เงินแก่ชาวบ้านในพื้นที่พิพาทอีกด้วย
วันเดียวกัน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ ส่งหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยืนยัน โครงการฯ ดังกล่าว ไม่ใช่ของบริษัท และไม่ใช่ผู้ลงทุนโครงการบลูเทค ซิตี้ฯ แต่กระบวนการขอปรับเปลี่ยนผังเมือง ที่ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ เป็นผู้ดำเนินการ และการปรากฏตามหน้าสื่อ ยืนยันการลงทุนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ไฮเทค แต่การออกมาบอกว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการฯ กลายเป็นคำถามใหญ่ว่า ตกลงแล้วกลุ่มทุนทั้ง 2 บริษัท คือ พลังงานบริสุทธิ์ และ ดับเบิลพี แลนด์ มีความเกี่ยวเนื่องกัน หรือไม่ ทั้งยังเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับพื้นที่เขาดิน ยังสะท้อนความไม่เป็นธรรมเรื่องที่ดินได้ชัดเจน
ผังเมืองเดิมบางปะกง กำหนดให้เขาดิน เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ตอนนั้นราคาที่ดินจึงไม่สูงมากนัก ตกไร่ละ 80,000-90,000 บาท กลุ่มทุนรู้ล่วงหน้า ว่าที่ดินบริเวณนี้จะถูกยกเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมในอีอีซี จึงกว้านซื้อที่ดิน และใช้ความพยายามขอปรับเปลี่ยนสีผังเมือง ให้เป็นสีม่วง สำหรับอุตสาหกรรม ตอนนี้ ราคาที่ดินขยับสูงขึ้นเป็นไร่ละหลายล้านบาท
ความเหมาะสมพื้นที่ หวั่นกระทบ "บางปะกง"
ความเหมาะสมของที่ตั้งโครงการฯ ยังเป็นอีกประเด็นสำคัญ ที่นำไปสู่การคัดค้าน และถูกตั้งคำถาม เนื่องจากกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดินของ บริษัท ดับเบิ้ล พี แลนด์ บางจุดห่างจากแม่น้ำบางปะกงไม่เกิน 50 เมตร
ซึ่งถูกตั้งคำถามไม่สอดคล้องกับหลักการของร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินอีอีซี ซึ่งระบุเงื่อนไข ให้การก่อสร้างใด ๆ ต้องไม่กระทำในระยะไม่น้อยกว่า 500 เมตร จากแม่น้ำบางปะกง โดยที่ 200 เมตรแรก เป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์เท่านั้น ส่วน 300 เมตรที่เหลือ ห้ามสร้างโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภท
เมื่อดูจากจุดที่เริ่มก่อสร้างโครงการไปแล้ว แม้จะห่างจากแม่น้ำ และทาง บริษัท ดับเบิ้ล พี แลนด์ ระบุว่า เป็นเพียงการสร้างโกดังและลานจอดรถในเฟสแรกเท่านั้น แต่จากการประเมินจุดก่อสร้าง ยังอยู่ในเขตห้ามก่อสร้างทุกประเภท ในระยะห่างจากแม่น้ำ ไม่น้อยกว่า 500 เมตร
การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ด้วยข้อกำหนดเชิงพื้นที่ ถือเป็น จุดแข็งของร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินอีอีซี ที่หลายฝ่ายยอมรับ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ต.เขาดิน กำลังสวนทาง และกลายเป็นคำถามสำคัญ ว่าภาครัฐกำลังปล่อยให้ “ผังเมือง” ที่เป็นกลไกสำคัญในการกำหนดอนาคตการใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากร ถูกกำหนดและละเมิดโดยกลุ่มทุนใหญ่ หรือไม่
ทีมข่าววาระทางสังคม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เริ่มแล้ว! ญัตติด่วนขอตั้ง กมธ.อีอีซี ชี้ปัญหา-ของบพัฒนาให้สมดุล
เครือข่ายภาคตะวันออก เดินหน้าคัดค้านผังเมืองอีอีซี
จับตาทิศทาง "อีอีซี" ในนโยบายรัฐบาล