วันนี้ (6 ก.ย.2562) โรงเรียนปอวิทยา และมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเวทีเสวนา "ปัญหาพบสารเคมีตกค้างในเลือดคนเวียงแก่น" ณ โรงเรียนปอวิทยา อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เพื่อหาทางออก แก้ปัญหาสารเคมีตกค้าง และสร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมปลอดภัย หลังการสุ่มตรวจเลือดนักเรียนโรงเรียนปอวิทยา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 211 คน พบมีสารเคมีปนเปื้อนอยู่ในเกณฑ์ไม่ปลอดภัย 84 คน, อยู่ในเกณฑ์เสี่ยง 74 คน, อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย 47 คน และปกติเพียง 6 คน
นายเอกราช ลือชา ผอ.โรงเรียนปอวิทยา บอกถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นว่า ได้ประสานกับชุมชน กลุ่มเกษตรอินทรีย์ ผลิตวัตถุดิบในการทำอาหารกลางวันให้นักเรียนเข้าถึงอาหารปลอดภัย ซึ่งไม่เพียงแต่เฉพาะโรงเรียนปอวิทยาเท่านั้น แต่ต้องขยายเครือข่ายสร้างอาหารปลอดภัยให้เพียงพอในโรงเรียนอื่นด้วย
พอเราสุ่มตรวจแล้วเจอสารเคมีตกค้างในเลือดนักเรียน ก็คิดว่าโรงเรียนในแถบเดียวกัน ก็อาจเผชิญความเสี่ยงไม่ต่างกัน จึงประสานทุกโรงเรียนมาร่วมเวทีวันนี้ เพื่อได้ทราบสถานการณ์ และให้ได้เจอกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ วางแผนเพื่อผลิตผักและวัตถุดิบที่ปลอดภัยให้กับนักเรียนทุกโรงเรียนในอำเภอเวียงแก่น
ผอ.โรงเรียนปอวิทยา ยังกล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะตรวจเลือดนักเรียนซ้ำ เพื่อติดตามผลเลือดว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติแล้วหรือไม่ และมีแผนจะตรวจเด็กนักเรียนกลุ่มที่เหลือในโรงเรียนเพิ่ม
รศ.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผอ.สถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร ระบุว่า แนวคิดในการสร้างอาหารปลอดภัยให้นักเรียนและคนในชุมชน เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่สิ่งสำคัญของการแก้ปัญหา คือ ต้องหาจุดหรือพื้นที่สร้างอาหารปลอดภัยที่เหมาะสมให้ได้ก่อน โดยต้องดูบริบทพื้นที่ ซึ่งที่นี่เป็นภูเขาสูง พื้นที่ชั้นรองลงมาเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ยางพารา และไม้ผล ซึ่งพบว่ามีการใช้สารเคมีเกษตร ถัดมาด้านล่างเป็นแหล่งน้ำ และชุมชน จึงยากที่จะหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนสารเคมี
รศ.พวงรัตน์ ยังระบุอีกว่า แม้สภาพพื้นที่เป็นเช่นนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะปนเปื้อนหมด เพราะบางจุดก็สามารถปลูกผลไม้ เช่น ส้มโอปลอดสารพิษ ส่งออกได้ตามมาตรฐานสากล นี่จึงเป็นเหตุผลที่ต้องมีการตรวจสอบการปนเปื้อนสารเคมีในพื้นที่เกษตร ดิน และน้ำ เพื่อให้รู้ข้อเท็จจริงที่แน่ชัดเพื่อแก้ไขปัญหา และหาพื้นที่สร้างอาหารปลอดภัย ทั้งนี้ มีแผนที่จะร่วมกับมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา และหน่วยงานในพื้นที่เพื่อดำเนินการเรื่องนี้ เพื่อสร้างพื้นที่ต้นแบบอาหารปลอดภัย
นางเตือนใจ ดีเทศน์ ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ระบุว่า ปัญหาสารเคมีตกค้างในครูและนักเรียนโรงเรียนปอวิทยา ถือว่าเป็นผลกระทบจากการใช้สารเคมีที่ชัดเจน พร้อมเสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ด้วยการยกเลิกใช้สารเคมีอันตราย และเน้นการเกษตรที่ปลอดภัย โดยอ้างถึงอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ควรได้รับสิทธิในการอยู่รอด และได้รับการปกป้องคุ้มครองในสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัย
ด้านตัวแทนฝ่ายปกครอง อ.เวียงแก่น ระบุว่า ปัญหาสารพิษในร่างกาย ต้องเร่งสร้างจิตสำนึก เบื้องต้น อำเภอมีแผนเชิงรุก โดยอาจมีการสุ่มตรวจตามชุมชน หากตรวจพบ ต้องเร่งให้ความรู้กับชาวบ้าน ส่วนปัญหาสารเคมีที่ตรวจพบในโรงเรียน ระยะเร่งด่วนต้องเร่งขับเคลื่อนเกษตรปลอดภัย ปลอดสารเคมี โดยเฉพาะผักที่เป็นวัตถุดิบปรุงอาหาร
สำหรับการหาสาเหตุที่พบสารเคมีปนเปื้อนในเลือดเด็กนักเรียน โรงเรียนฯ ร่วมกับ ภกญ.ไพลิน สาระมนต์ เภสัชกรชำนาญการโรงพยาบาลเวียงแก่น และสาธารณสุขในพื้นที่ เก็บข้อมูลเบื้องต้น โดยทำแบบสอบถามเพื่อหาความเชื่อมโยงสาเหตุในเรื่องนี้ พบว่า นักเรียนในกลุ่มไม่ปลอดภัยและกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่ บริโภคผัก ผลไม้ ที่ปลูกเองโดยใช้สารเคมี และไปช่วยงานผู้ปกครองในแปลงเกษตร เช่น ใส่ปุ๋ย ฉีดพ่นสารเคมี
ต่างจากนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มปลอดภัย บริโภคผักที่ปลูกเองโดยไม่ใช้สารเคมี และไม่ได้ช่วยเหลือผู้ปกครองในแปลงเกษตร ทำให้หน่วยงานตั้งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่พบสารเคมีตกค้างในเลือดเด็กหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รมช.เกษตรฯ ย้ำต้องยกเลิกสารเคมีอันตรายอย่างเร็วที่สุด
เปิดข้อมูลผู้ป่วยบัตรทองปี 2562 พบผู้ป่วยพิษสารเคมีกว่า 3 พันคน
ผู้ว่าฯน่าน เรียกประชุมด่วน คณะทำงานแก้ปัญหา “สารเคมีปนเปื้อน”