สังคมกำลังปลุกกระแสรณรงค์ลดใช้พลาสติก ที่เป็นตัวการทำให้ลูกพะยูน "มาเรียม" และสัตว์น้ำอีกหลายตัวต้องตายไป ซึ่งขยะส่วนใหญ่ในทะเลมาจากบนบก ทำให้หลายหน่วยงาน หลายเครือข่ายและชาวบ้านในหลายพื้นที่ ต้องหาวิธีร่วมมือกันลดและดักขยะในแม่น้ำและลำคลอง หนึ่งในนั้นคือเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลหาดเจ้าสำราญ ที่ใช้ "ทุ่นกักขยะ" เป็นเครื่องมือสกัดขยะไม่ให้ไหลลงทะเล
นายกสิธาดา คล้อยดี หนึ่งในทีมอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลหาดเจ้าสำราญ ให้สัมภาษณ์กับ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" บอกเล่าถึงโครงการทดลองใช้ทุ่นกักขยะ หรือ BOOM บริเวณคลองบางทะลุ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ว่า "คลองบางทะลุ" ประสบปัญหาเรื่องขยะทับถมค่อนข้างมาก และขยะเหล่านี้จะไหลลงทะเล เนื่องจากบริเวณหัวคลองและท้ายคลองมีทางออกสู่ทะเลทั้ง 2 ด้าน ขณะที่กลางคลองเป็นชุมชน
ก่อนหน้านี้ สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 (เพชรบุรี) ได้มาสอบถามชาวบ้านว่าสนใจทำทุ่นกักขยะหรือไม่ และยังได้หารือกับเทศบาลตำบลหาดเจ้าสำราญ จนนำมาสู่การทดลองใช้ทุ่นกักขยะบริเวณคลองบางทะลุ โดยทำการติดตั้งไว้ 3 จุด คือ บริเวณสะพานทางเข้าบ้านดอนสบาย (ออกสู่ทะเลด้านทิศใต้), โค้งลุงชาญ (กลางคลองก่อนถึงแยก) และสะพานซีวิว (ออกสู่ทะเลด้านทิศเหนือ)
เครือข่ายฯ ชาวบ้านและชาวประมงพื้นบ้าน ได้ช่วยกันเก็บขยะที่ลอยมาติดทุ่น สัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่ละครั้งจะสำรวจว่ามีขยะลดน้อยลงหรือไม่ หรือมีขยะประเภทใดที่ลดลง โดยเริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย.2562 จนถึงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เก็บขยะรวมแล้ว 16 ครั้ง พบขยะ 9,527 ชิ้น น้ำหนักรวม 1,566 กิโลกรัม ส่วนใหญ่เป็น "ถุงพลาสติก"
เปิดโครงการตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เก็บขยะแล้ว 16 ครั้ง รวมน้ำหนักประมาณ 1 ตันครึ่ง แยกเป็นขยะถุงพลาสติก 52% ที่เกิดขึ้นที่คลองบางทะลุ
รองลงมาเป็นขวดเครื่องดื่มพลาสติก เศษโฟม และขยะอื่นๆ ทั้งหมดนี้คือขยะในคลองบางทะลุ แต่หลังการดำเนินงาน ลำน้ำที่หาดเจ้าสำราญสะอาดขึ้น ขยะในคลองบางทะลุก็ลดลง ส่วนขยะที่เก็บมาได้จะคัดแยก ขยะที่รีไซเคิลได้จะนำไปขาย ส่วนขยะที่ต้องทิ้งจริงๆ เทศบาลจะนำไปฝังกลับต่อไป
นายกสิธาดา กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้การดักขยะจะเป็นการแก้ปัญหาปลายทาง แต่หนึ่งในมาตรการต้นทางที่จะป้องกันไม่ให้เกิดขยะทะเล หรือลดจำนวนขยะทะเลลง คือการขอความร่วมมือจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมคลอง ใช้เวลา 6-7 สัปดาห์สร้างการรับรู้ จนสามารถทำให้ชาวบ้านตระหนักได้ว่าไม่ควรทิ้งขยะลงคลอง แม้จะมีทีมงานมาเก็บขยะก็ตาม ก็ถือว่าได้ผล
ล่าสุด เมื่อวานนี้ (22 ส.ค.) ทช.และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลหาดเจ้าสำราญ ได้เก็บขยะจากทุ่นกักขยะที่ติดตั้งไว้ทั้ง 3 จุด เป็นครั้งที่ 18 ได้ขยะรวม 43 กิโลกรัม เป็นขยะทั่วไป 36 กิโลกรัม ขยะอินทรีย์ 7 กิโลกรัม แต่ขยะส่วนใหญ่ยังเป็นถุงก๊อปแก๊ป (ถุงหูหิ้ว) ถุงพลาสติก โฟม และขวดเครื่องดื่ม (แก้ว) พร้อมระบุว่า "ดักขยะพลาสติกจากคลองบางทะลุ 1 ปีน่าจะได้สักสองตัน"