วันนี้ (18 ส.ค.2562) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดเสวนา “ทะเลไทย” ต้อง “ไร้ขยะ” นำเสนองานวิจัย เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาวิกฤตขยะพลาสติกในทะเลไทย ภายหลังการสูญเสียชีวิตของพะยูนมาเรียม และสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ ที่กำลังสะท้อนว่า ขยะพลาสติกสร้างผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเลและสภาพแวดล้อม ดังนั้น การแก้ปัญหาขยะพลาสติกเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขอย่างครบวงจร ตรงประเด็นและเบ็ดเสร็จทั้งในเชิงนโยบายและปฏิบัติ บนฐานการวิจัยที่พร้อมใช้งาน และสามารถปรับไปตามสภาพปัญหาและพื้นที่ โดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมดำเนินการร่วมกันอย่างต่อเนื่องและจริงใจของทุกภาคส่วน
ขยะพลาสติก 70 ล้านตัน ไหลลงสู่ทะเล
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า ทีมนักวิจัยมีการประเมินว่า ตลอดระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ไทยปล่อยขยะลงสู่ทะเล 100 ล้านตัน กว่าร้อยละ 20-70 เป็นพลาสติก ทาง วช. ในฐานะเป็นหน่วยงานให้ทุนวิจัยหลักของประเทศและส่งเสริมการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน จึงเป็นหน่วยงานกลางที่ประสาน เชื่อมโยงทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกันบนฐานงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์และปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ชูประเด็นในการแก้ปัญหาผ่านการวิจัยและพัฒนาซึ่งต้องดำเนินการใน 5 ประเด็นหลัก คือ
1. ผู้ผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกต้องผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ง่ายต่อการจัดการขยะและการนำกลับไปใช้ใหม่ สามารถตรวจสอบเส้นทางวงจรผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การผลิตถึงวาระสุดท้ายของพลาสติก โดยร่วมมือกับภาคเอกชนที่ผลิตเม็ดพลาสติก ในปีนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ศึกษาแล้วมากกว่า 15 ผลิตภัณฑ์ รวมถึง บรรจุภัณฑ์ หลอด วัสดุก่อสร้าง วัสดุประกอบอาคาร และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น
2. ชุมชนในพื้นที่ทุกจังหวัดที่ติดทะเล จะต้องรู้วิธีจัดการขยะพลาสติกได้ด้วยตนเองและเบ็ดเสร็จในพื้นที่ ได้ดำเนินการใน 23 จังหวัดในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน อาทิ ชายหาดบางแสน แสมสาร เกาะหลีเป๊ะ และเกาะภูเก็ต
3. ต้องมีกระบวนการเก็บและจัดการขยะในทะเลอย่างเป็นระบบในทุกพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมและใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่และชุมชน และรู้ตัวเลขขยะพลาสติกในทะเลที่ยังตกค้างอยู่ในพื้นที่ที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายลดปริมาณขยะในพื้นที่ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ภายในปีที่หนึ่ง และเพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ในปีถัดไป
4. นำขยะพลาสติกมารีไซเคิลโดยไม่เกิดผลกระทบต่อเนื่องต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ โดยเฉพาะการตกค้างในสัตว์ทะเลและสิ่งมีชีวิต
5. ลดการตกค้างของไมโครพลาสติกที่ตกค้างในทะเลและสิ่งมีชีวิตบนฐานจากการวิจัยที่สามารถเทียบมาตรฐานกับนานาชาติได้
จากนี้การจัดการพลาสติกอย่างครบวงจรจะต้องทำงานร่วมกับผู้ผลิต ตั้งแต่การผลิตเม็ดพลาสติกจนถึงปลายทาง เพื่อแก้ไขปัญหาการผลิตผลิตภัณฑ์ การนำไปใช้ และการกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง เพื่อกำจัดปัญหาขยะที่ทิ้งสู่ทะเลจากบนบกในระยะยาวและเป็นการกำจัดปัญหาขยะทะเลจากต้นทาง
รุกงานวิจัย "ทะเลไทย" ต้อง "ไร้ขยะ"
ด้าน รศ.สัญญา สิริวิทยาปกรณ์ ผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย ระบุว่า ได้เริ่มโครงการวิจัยตั้งแต่ ปี 2559 ในชื่อ “โครงการ ท้าทายไทย” ชวนกลุ่มนักวิจัยหลายมหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมเสนอผลงาน โดยโจทย์จะต้องมีความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้ และรัฐบาลจะต้องกล้านำไปใช้ด้วย เริ่มจากติดติดตามวงจรขยะพลาสติก ในในพื้นที่ 5 เกาะ และ 8 ชายฝั่งทั้งอ่าวไทยและอันดามัน โดยในปีนี้จะใช้นวัตกรรมทางสังคม สร้างเครือข่ายภายในและระหว่างชุมชน ในการสร้างผลิตภัณฑ์จากขยะพลาสติก และรีไซเคิลพลาสติกที่ การกำหนดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของขยะพลาสติกหรือผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการนำมาใช้งานและกำจัด การสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่เพื่อร่วมกันผลักดันนโยบายและสร้างความตระหนักรวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาผ่านระบบเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัด ทส. ระบุว่า แต่ละปี คนไทยสร้างขยะ 28 ล้านตัน ในจำนวนนี้กว่า 2 ล้านตัน เป็นขยะพลาสติก แต่สามารถนำมากำจัดด้วยการมาฝังกลบหรือ รีไซเคิล ได้เพียง 5 แสนตัน เท่านั้น ที่เหลือกว่า 1 ล้าน 5 แสนตัน กว่าร้อยละ 80 ก็จะไหลลงสู่ทะเล และยังแตกตัวเป็นไมโครพลาสติก ที่กำลังรองานวิจัยยืนยันว่ามีผลกระทบต่อร่างกายเมื่อกินเข้าไปหรือไม่ ขณะที่ต้นทางก็มีแผนยกเลิกพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ส่งเสริมธุรกิจหมุนเวียน แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องหาทางออกในการหาทางสร้างเครื่องมือกำจัดขยะที่มีสะสมอยู่ด้วย
ปลายทางโรงไฟฟ้ากำจัดขยะ ที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้ เพราะคนในพื้นที่ไม่ยอมรับ ขณะที่หลายประเทศปฏิเสธการฝังกลบไปแล้ว ก็ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้การแก้ปัญหาที่ปลายทางตรงกับบริบทของแต่ละพื้นที่
ขณะที่อุปสรรคในการปัญหาที่ต้นทาง ยังพบว่า แม้อุตสาหกรรมพลาสติกจะมีการรายงาน การนำเม็ดพลาสติกไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ยืดอายุการใช้งานได้ แต่กลับไม่ได้ระบุว่าเมื่อหมดอายุการใช้งานจะมีวิธีกำจัดอย่างไร และสารเคมีที่เติมเพื่อยืดอายุบรรจุภัณฑ์เป็นสารประเภทไหน ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดเล็ก ยังไม่พบรายงานเส้นทางของเม็ดพลาสติกของการนำไปผลิตเพื่อยืดอายุบรรจุภัณฑ์ ซึ่งการมีรายงานฉบับดังกล่าว จะช่วยให้ทราบได้ว่าบริษัทผู้ผลิตมีระบบในการติดตามและรับผิดชอบขยะปลายทางของตัวเองอย่างไรบ้าง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชันสูตร "มาเรียม" ติดเชื้อในกระแสเลือด หลังพลาสติกอุดตันลำไส้
"ปริญญา" วอนเลิกใช้พลาสติก หวั่นซ้ำรอย "มาเรียม"
เปิดใจ "แม่นม" คนแรก ในวันที่เกาะลิบงไม่มีมาเรียม