วันนี้ (13 ส.ค.2562) ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงทิศทางการแก้ปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ว่าได้รับรายงานจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.แล้ว กรณีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโดยมีสาเหตุจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปี 2562 ที่พบมากถึง 3,067 คน เสียชีวิต 407 คน ซึ่งชัดเจนว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชน
นายอนุทิน ยังระบุถึงการบรรจุนโยบายนี้ไว้ในการหาเสียงของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีความชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้สารเคมีเหล่านี้ เพราะมีโทษ มีผลร้ายต่อสุขภาพ และยังทำลายคุณภาพดินเสื่อม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นข้อมูลเพียงพอที่จะระบุถึงผลกระทบ ยกเว้นเพียงผู้นำเข้าเท่านั้นที่เห็นว่ามีประโยชน์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขตัดสินใจไปแล้วว่าไม่เห็นด้วย และไม่มีนโยบายให้นำเข้า
ขณะที่การดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุข คือต้องรักษาผู้ป่วยตามอาการ และต้องให้ข้อมูลว่าอะไรเป็นโทษ อะไรเป็นประโยชน์ไปยังหน่วยราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ผ่านมา มักมีการอ้างว่าผลกระทบทางสุขภาพที่กระทรวงสาธารณสุขนำเสนอนั้นไม่เพียงพอ นายอนุทิน ย้ำว่า ต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนมากที่สุด ส่วนการจะยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดเมื่อไหร่ เป็นอำนาจตัดสินใจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ต้องรอให้คนตายก่อนหรือไง ควรต้องเอาสุขภาพของประชาชน ต่อให้มีผลกระทบเพียงร้อยละ 0.01 เราก็ให้ไม่ได้แล้ว มนุษย์ทุกคนไม่เหมือนกัน บางคนทนต่อโรคได้เยอะ บางคนทนต่อโรคได้น้อย เราจะมาดูแค่คนนี้ป่วยมาก ป่วยน้อย ไม่ได้หรอก
"สาธิต" รมช.สธ. เห็นด้วย ยกเลิกสารเคมี
ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวไทยพีบีเอส ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้สรุปข้อมูลที่เป็นอันตรายของสารเคมีเหล่านี้และส่งไปให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาแล้ว
แต่เข้าใจว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงเคยชินกับการใช้สารเคมี ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ คงต้องเร่งให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรให้มากที่สุด ระหว่างที่ยังไม่มีการยกเลิกตามกฎหมาย
สาธิต ปิตุเตชะ
ทั้งหมดนี้ ได้สรุปส่งไปหมดแล้ว ส่วนการจะยกเลิกหรือไม่ เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำไปพิจารณา
"อ.ยักษ์" ย้ำ หากยกเลิกไม่ได้ ต้องมีคนรับผิดชอบ
ขณะที่ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุ หากกระทรวงเกษตรฯ ยืนยันจะเอาจริง ไม่ต้องรอถึงสิ้นปีอย่างที่ประกาศ แต่สามารถทำได้ทันทีภายใน 3 เดือน โดยให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เชิญบอร์ด 5 คนมาโหวตเพื่อยกเลิก แล้วนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายอีกครั้ง ถ้าไม่สามารถตอบสนองนโยบายได้ ก็ต้องมีการจัดการ
วิวัฒน์ ศัลยกำธร
ตอนที่ผมเป็น รมช.เกษตรฯ ผมไม่มีอำนาจโยกย้ายคน ถ้าผมมี ผมจะปลดทั้ง 5 คนที่ไปลงมติให้มีการใช้สารเคมีต่อ ถ้ารัฐมนตรีชุดนี้เอาจริง ก็เรียก 5 คนที่เป็นบอร์ด เรียกอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ระงับไป ถ้าทำไม่ได้ก็เปลี่ยนคนทำ
อดีต รมช.เกษตรฯ ยังกล่าวอีกว่า กระแสทั้งโลกเดินมาในทิศทางที่เรียกร้องให้หยุดยั้งมลภาวะ ทั้งพลาสติก สารพิษ และอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสุขภาพของประชาชน ถ้าคนที่รับผิดชอบไม่ตัดสินใจก็จะลำบาก
ปัจจุบัน การจัดการสารเคมีการเกษตรที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด ดำเนินการตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2562 ที่ไม่ยกเลิก แต่ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปกำหนดมาตรการในการจำกัดการใช้
โดย กระทรวงเกษตรฯ ได้ออกประกาศ จำนวน 5 ฉบับ ครอบคลุมตั้งแต่การกำหนดเงื่อนไขผู้ใช้ ผู้จำหน่าย ผู้ให้บริการพ่นสารเคมีจะต้องผ่านการอบรมก่อน, การจำกัดปริมาณการใช้สารเคมี ต่อพื้นที่, ปิดฉลากสื่อความหมายสารเคมีที่เป็นอันตรายบนบรรจุภัณฑ์, การประกาศเขตห้ามใช้ ครอบครอง, ควบคุมการนำเข้า รวมถึงจัดทำแผนปฏิบัติการเร่งขยายพื้นที่เกษตรที่เหมาะสม หรือเกษตรอินทรีย์ และให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการศึกษาวิจัย หาสารและวิธีการทดแทน
ขณะที่ หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2 ที่เพิ่งแถลงต่อรัฐสภา ระบุว่า จะควบคุมมาตรฐานการใช้สารเคมี หรือ ปุ๋ยเคมีในการเกษตรเพื่อนำไปสู่การลด ละ เลิกการใช้สารเคมีหรือปุ๋ยเคมีโดยจัดหาสิ่งทดแทนที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับของเกษตรกร สอดคล้องกับกรณีที่ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร ชะลอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการอนุญาตหรือต่อทะเบียนสารเคมีเกษตรเอาไว้ก่อน เพื่อพิจารณาทบทวนใหม่ทั้งหมด พร้อมยืนยันต้องยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด ให้ได้ก่อนสิ้นปีนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รมช.เกษตรฯ ย้ำต้องยกเลิกสารเคมีอันตรายอย่างเร็วที่สุด
แพทย์เตือนอันตรายจากการใช้สารเคมี โดยเฉพาะ "พาราควอต"
เปิดข้อมูลผู้ป่วยบัตรทองปี 2562 พบผู้ป่วยพิษสารเคมีกว่า 3 พันคน
แบคทีเรียต้นตอ "เนื้อเน่า" ก่อนเข้ากระแสเลือดถึงตาย