วันนี้ (9 ส.ค.2562) น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งดูแลรับผิดชอบในส่วนของกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายกรมวิชาการเกษตรว่า ได้สั่งการให้ทบทวนเรื่องสารเคมีเกษตรและปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะสารกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต หากมีการพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการอนุญาตและการต่อทะเบียนสารเคมีเกษตร ต้องชะลอเอาไว้ก่อน โดยตนเองจะขอดูรายละเอียดเพื่อศึกษาทบทวนใหม่
ส่วนการตั้งคณะกรรมการเพื่อมาศึกษาทบทวนเรื่องนี้นั้นมีกรอบอยู่แล้ว เพียงแค่ต้องทำความเข้าใจว่าจริงๆ แล้วทั้ง 3 สารนี้อันตรายอย่างไร รวมไปถึงปุ๋ยปลอม ยาปลอม หรือในโรงงานต่างๆ ตนจะลงพื้นที่ไปตรวจสอบเอง
ทั้งนี้ การพิจารณาทบทวนร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย จะแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้ โดยย้ำว่าการยกเลิกสารเคมีทั้ง 3 ชนิด จะทำโดยเร็วที่สุด เพราะส่วนตัวต้องการให้ยกเลิกภายในสิ้นเดือนนี้ แต่ต้องดูหลายอย่างประกอบ เช่น สต็อก หรือคลังสินค้า ซึ่งทางกรมวิชาการเกษตรยังไม่ได้รายงานข้อมูลเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะต้องหาสิ่งทดแทนได้ดี ส่วนที่บางคนบอกว่าเกษตรกรอบรมแล้ว ป้องกันแล้ว แต่ในความเป็นจริง เมื่อเกษตรกรพ่นสารเคมีเกษตร กลับไม่ได้ป้องกัน ดังนั้น ผู้บริโภคก็ไม่สามารถรับรู้ได้ว่ากำหนดการเก็บผลผลิตหลังพ่นสารนั้น เป็นไปตามกรอบ 3 หรือ 8 เดือนตามที่กำหนดไว้หรือไม่
ความปลอดภัยของชีวิตคน ไม่มีอะไรทดแทนได้ ถึงตัวเราเองอยู่กับสารพิษ เราว่าเราป้องกันแล้ว แต่สารพิษตัวนั้นกระจายออกไปทั่ว ลงน้ำไปเจอปลา เราเป็นผู้บริโภคปลา ซึ่งเป็นวัฏจักรที่ต้องเวียนกลับมาหาเรา ดังนั้นย้ำว่า อยากให้จบภายในสิ้นปีนี้
รมช.เกษตรและสหกรณ์ ยังย้ำว่า ได้มีการหารือเรื่องนี้กับ รมว.สาธารณสุข ซึ่งยืนหยัดในนโยบายนี้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไป เป็นไปไม่ได้ที่จะอนุญาตสิ่งผิดๆ จึงต้องทำให้เด็ดขาดและรวดเร็วขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แพทย์เตือนอันตรายจากการใช้สารเคมี โดยเฉพาะ "พาราควอต"
"คกก.วัตถุอันตราย" เร่งแก้ปัญหาสารเคมีตกค้างผัก - ผลไม้
รับจ้างฉีดยาฆ่าแมลง "ชีวิต" บนความเสี่ยงโรคเนื้อเน่า
"พาราควอต" คืออะไร ทำไมต้องขอแบน?