ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"อนาคตใหม่" ขอชะลอผังการใช้ประโยชน์ที่ดินอีอีซี ตั้งขอสังเกตเอื้อกลุ่มทุน

การเมือง
2 ส.ค. 62
14:58
1,635
Logo Thai PBS
"อนาคตใหม่" ขอชะลอผังการใช้ประโยชน์ที่ดินอีอีซี ตั้งขอสังเกตเอื้อกลุ่มทุน
ส.ส.อนาคตใหม่ เรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายอีอีซีทบทวนร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินอีอีซี และชะลอบังคับใช้ 9 ส.ค.นี้ออกไปก่อน เหตุกระทบพื้นที่เกษตร พร้อมตั้งข้อสังเกตเอื้อประโยชน์นายทุนกว้านซื้อที่ดิน


วันนี้ (2 ส.ค.2562) ที่ทำการพรรคอนาคตใหม่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วย น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในพื้นที่ จ.ชลบุรี และนายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา ร่วมกันแถลงท่าทีของพรรคต่อการจัดทำร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินอีอีซี และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประชาชนในพื้นที่ โดยเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ทบทวนและจัดทำร่างผังเมืองรวมใหม่ที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม 

 

 

 

น.ส.เบญจา ระบุว่า จากการพิจารณาข้อมูลในเชิงพื้นที่ ทั้งจากประชาชนและการลงพื้นที่โดย ส.ส.ของพรรคหลายครั้ง พบว่าประเด็นสำคัญที่ประชาชนกังวล คือ ผลกระทบต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากหลายพื้นที่ถูกเปลี่ยนผังเมืองให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม มีลักษณะพื้นที่ที่มีความมั่นคงทางอาหาร เป็นแหล่งเกษตรกรรมชั้นดี เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความพิเศษในระบบนิเวศ ถ้าผังเมืองเปลี่ยนสีจะมีปัญหากับวิถีชีวิตประชาชนอย่างมาก


ยืนยันว่าพรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่ต้องการเห็นการพัฒนาที่คำนึงถึงวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ โดยให้พวกเขาได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการพัฒนา ทั้งนี้ รวมถึงการมีมาตรการจัดการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม นั่นต่างหาก คือการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ควรเกิดขึ้นที่ภาคตะวันออกและทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย


ด้าน น.ส.ศิริกัญญา กล่าวถึงเหตุผลที่คณะกรรมการนโยบายอีอีซีควรชะลอการพิจารณาออกไป เนื่องจาก ร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินฉบับนี้ เป็นการวางผังเมืองแบบรายโครงการ ไม่ใช่การพิจารณาตามศักยภาพของพื้นที่ ผิดหลักการในการทำผังเมืองทั่วไป เพราะโดยปกติจะต้องพิจารณาว่าพื้นที่มีความเหมาะสมที่จะทำอะไร ควรจะนำมาใช้ประโยชน์อะไร

แต่หากดูลงไปในรายละเอียด เราจะเห็นได้ว่ากว่า 90% ของเขตอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมาในร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินอีอีซี เป็นพื้นที่เกษตรกรรม หลายพื้นที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดี พื้นที่น้ำชุ่ม หรือพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก แต่การทำผังการใช้ประโยชน์ที่ดินล่าสุด เป็นการพิจารณาจากโครงการเป็นหลัก ไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่จริง นอกจากนี้ กระบวนการยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง กระบวนการทำผังเมืองไม่ได้เป็นที่รับรู้ของชาวบ้าน


คณะกรรมการนโยบายอีอีซี ควรชะลอการพิจารณาอนุมัติผังเมืองอีอีซีนี้ออกไปก่อน ตอบคำถาม ข้อเท็จจริงกับผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ครบถ้วนก่อน จนกว่าจะได้ข้อสรุปเป็นที่น่าพอใจกับทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ เราไม่ได้กำลังบอกว่าคุณจะต้องฟังชาวบ้านอย่างเดียว แต่คุณไม่ควรที่จะพัฒนาโดยทิ้งใครเอาไว้ข้างหลัง


น.ส.ศิริกัญญา ยังกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นญัตติด่วนเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ อีอีซี แต่การประชุมสภาฯ ในวันนั้น นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ ได้กล่าวปิดการประชุมหลังเปิดสภาฯ ได้เพียง 3 ชั่วโมง ทำให้การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญยังไม่เกิดขึ้นและค้างอยู่

พรรคอนาคตใหม่จึงมีแผนจะเสนอทบทวน พ.ร.บ.อีอีซี นับตั้งแต่สมัยประชุมครั้งที่ 2 โดยจะเน้นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก และจะทำงานทั้งในและนอกสภาควบคู่กัน ส่วนการดึงพรรคอื่นๆ มาร่วมทำงานในประเด็นนี้ ทางพรรคฯ ยอมรับว่า มีทั้งที่เห็นร่วมและเห็นต่าง และการทำงานร่วมกันอาจไม่ราบรื่นนัก

ด้านนายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ ส.ส.ฉะเชิงเทรา ระบุว่า มีชาวบ้านถูกขับไล่ออกจากที่ดิน ที่เคยเช่าทำกินมานาน ขณะที่นายทุนมีการกว้านซื้อที่ดิน เตรียมการรองรับไว้นานหลายปีแล้ว ก่อนที่ผังเมืองรวมจะประกาศบังคับใช้ จึงตั้งข้อสังเกตว่านี่อาจเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้นหรือไม่

 


ที่ผ่านมาชาวบ้านชี้แจงได้ ว่าทำไมพื้นที่เกษตรกรรมจึงไม่ควรเปลี่ยนไปรองรับอุตสาหกรรม แต่คณะกรรมการนโยบายอีอีซี ไม่เคยบอกเหตุผลว่าทำไมต้องใช้พื้นที่ตรงนั้น จริงๆ ไม่ใช่ผังเมืองที่ควรทบทวน แต่ควรทบทวน พ.ร.บ.อีอีซีใหม่เลยด้วยซ้ำ


นอกจากนี้ พรรคอนาคตใหม่ยังเตรียมเสนอโครงการระเบียงชีวิตภาคตะวันออก หรือ ELC เป็นโครงการคู่ขนาน ที่เน้นการพัฒนาทุกมิติ มากขึ้น

สำหรับร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินอีอีซีฉบับนี้ คณะกรรมการนโยบายอีอีซี เตรียมจะมีการพิจารณา ในวันที่ 5 ส.ค.นี้ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและประกาศบังคับใช้ภายในวันที่ 9ส.ค.นี้ ตามกรอบกฎหมาย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"พิธา" ลุยพื้นที่อีอีซี ดูปัญหากระดุมเม็ดแรก "ที่ดินทำกิน"

กลุ่มค้านผังเมืองอีอีซี ขอให้ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษา "อีอีซี"

จับตาทิศทาง "อีอีซี" ในนโยบายรัฐบาล

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง