ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พิจิตรนำร่อง "ธนาคารน้ำใต้ดิน" แก้ภัยแล้งอย่างยั่งยืน

ภัยพิบัติ
29 ก.ค. 62
19:09
6,920
Logo Thai PBS
พิจิตรนำร่อง "ธนาคารน้ำใต้ดิน" แก้ภัยแล้งอย่างยั่งยืน
ธนาคารน้ำใต้ดิน แนวทางแก้ปัญหาน้ำใน จ.พิจิตร โดยการกักเก็บน้ำไว้ใต้ดินในช่วงฤดูฝนที่มีปัญหาน้ำท่วม เพื่อเตรียมใช้ในฤดูแล้งและฝนทิ้งช่วง ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ตั้งเป้าทำธนาคารน้ำใต้ดิน 1,180 แห่ง ทั่วจังหวัด ล่าสุด ดำเนินการไปแล้ว 300 แห่ง

วันนี้ (29 ก.ค.2562) ยางรถยนต์เก่า ขวดน้ำพลาสติก และกรวด เป็นวัสดุที่ชาวบ้านใน ต.ห้วยเกตุ อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร นำไปไว้ในหลุมที่ถูกขุดลึกลงไปกว่า 1 เมตร ก่อนจะกลบดินและนำท่อ ขนาด 1 นิ้ว ปักลงไป เพื่อให้อากาศถ่ายเทจากในหลุม ขึ้นมายังด้านบนซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ให้น้ำฝนที่ตกลงมาไหลซึมลงไปเก็บกักไว้ใต้พื้นดิน หลังพื้นที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงและภัยแล้ง


ชัยวัฒน์ ขำหรุ่น ผู้ใหญ่บ้านงิ้วลาย ระบุว่า แม้พื้นที่จะอยุ่ในเขตชลประทานและอยู่ใกล้แม่น้ำน่าน แต่ก็ได้รับผลกระทบในช่วงหน้าแล้งอยู่ หากฝนทิ้งช่วงนาน ก็จะส่งผลให้ผลผลิตการเกษตรเสียหาย โดยเฉพาะสวนมะม่วงที่มักยืนต้นตายในช่วงหน้าแล้ง เนื่องจากขาดน้ำ


นภัสวรรณ บุญฮุย ปลัด อบต.ห้วยเกตุ ระบุว่าโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน เกิดขึ้นจากองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยเกตุมองว่า ปี 2560 เกิดวิกฤติภัยแล้งขึ้นในพื้นที่ ประกอบกับบางพื้นที้ในเขตรับผิดชอบช่วงหน้าฝนจะมีหลายพื้นที่น้ำท่วมขัง จึงเล็งเห็นว่า ควรที่จะนำน้ำฝนไปกักเก็บไว้ใช้ช่วงหน้าแล้ง หรือ ตอนฝนทิ้งช่วง ซึ่งการนำน้ำลงใต้ดินนั้นตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาทั้ง 2 เรื่อง จึงได้นำมาปฏิบัติในพื้นที่ จนพบว่าสามารถใช้ได้จริง น้ำที่เคยท่วม ก็หายไปภายใน 1 คืน ขณะที่หน้าแล้งก็สามารถนำน้ำใต้ดินออกมาใช้ได้ พร้อมทั้งน้ำยังไหลไปยังบ่อเก็บน้ำที่เคยแห้งอีกด้วย

รู้จักธนาคารน้ำใต้ดินตั้งแต่ปี 2560 จึงได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ทดลองทำร่วมกับพืชสวนและในครัวเรือน เพื่อระบายน้ำและเติมน้ำลงในชั้นหินใต้ดิน เพื่อให้ดินอุ้มน้ำและมีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอสำหรับการทำเกษตรในช่วงฤดูแล้ง

ขณะที่ ธนรักษ์ พงศ์วุฒิเศรษฐ์ นายก อบต.ห้วยเกตุ ระบุว่า หลักการนี้ คือ นำน้ำที่มีมากในช่วงฤดูฝนลงใต้ดิน ซึ่งมีทั้งระบบเปิดและปิด ซึ่งทางจังหวัดให้ ต.ห้วยเกตุ เป็นพื้นที่นำร่อง เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้งอย่างทั่วถึง


นายวรพันธุ์ สุวัณณุสส์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ระบุว่า การทำธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบน้ำในพื้นที่ จ.พิจิตร อย่างยั่งยืน ภายใต้หลักการ "ฝนตกที่ไหนเก็บน้ำที่นั่น" เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและแก้น้ำท่วม ซึ่งจะให้ทำในทุกครัวเรือน โดยจะเริ่มที่หมู่บ้านที่ประสบปัญหาน้ำท่วม และภัยแล้งซ้ำซาก เบื้องต้น ตั้งเป้าทำธนาคารน้ำใต้ดิน 1,180 แห่ง ล่าสุด ดำเนินการไปแล้ว 300 แห่ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง