การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา นอกจากเป็นการแถลงนโยบายของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ในฐานะผู้นำรัฐนาวา ยังเป็นโอกาสที่รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ได้ลุกขึ้นอภิปรายชี้แจงนโยบายที่ถูกตั้งคำถามจากสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล รวมถึง ส.ว.
หนึ่งในนั้น คือ การลุกขึ้นอภิปรายของ ส.ส.ฝ่ายค้านหลายคน ต่อนโยบายภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ที่อภิปรายนโยบายด้านการศึกษา ว่ายังมองไม่เห็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่คาราคาซังมานานกว่า 20 ปี โดยวิพากษ์นโยบายเร่งด่วน การเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ หรือ โค้ดดิ้ง (Coding) ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ว่าไม่สอดรับปัญหาเชิงโครงสร้าง เรื่องโรงเรียนขนาดเล็ก ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเรื่องครู
รมช.ศธ. ย้ำ "Coding" ช่วยฝึกทักษะคิด
กรณีนี้ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ใช้สิทธิ์อภิปรายชี้แจงในทันที ถึงนโยบายภาษา Coding ที่บรรจุไว้ในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลว่า เป็นไปตามนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ที่หาเสียงไว้กับประชาชน ว่าจะทำให้เด็กไทยสื่อสารได้อย่างน้อย 2 ภาษา และในฐานะที่ตนเป็นนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยืนยันว่าภาษา Coding จะเป็นภาษาที่ 3 ที่มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพราะเป็นวิชาที่เน้นฝึกทักษะการคิดที่จำเป็นในยุคดิจิทัล ซึ่งญี่ปุ่นและจีน ก็ประกาศให้วิชานี้เป็นวิชาหลักแล้วในปี 2020
คุณหญิงกัลยา ยังกล่าวอีกว่า สำหรับเด็กไทย จะได้เรียนภาษา Coding ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาในเทอมหน้า ไม่อยากให้เพื่อนสมาชิกรัฐสภาและคุณครูวิตกกังวลกับนโยบายนี้ ขอทำความเข้าใจว่า Coding ไม่จำเป็นต้องมีความพร้อมเรื่องคอมพิวเตอร์ทุกโรงเรียน เพียงแต่ต้องมีทักษะการสอน
จริงๆ แล้วคือสอนให้คนไทยมีตรรกะในการแก้ปัญหา คุณครูไม่ต้องห่วง ไม่ได้เพิ่มภาระให้ครู แต่จะเพิ่มทักษะใหม่ ที่เรียกว่าทักษะแห่งอนาคตในโลกดิจิทัล เราต้องเตรียมเด็กและผู้ใหญ่ทุกคน เพื่อที่จะมีงานและอาชีพที่ดี มีคุณภาพที่ดี มีรายได้ดี ต้องมีความรู้พื้นฐานเรื่องโค้ดดิ้ง
ห่วง ยิ่งถ่างช่องว่างทางการศึกษา
ทีมข่าวไทยพีบีเอส สอบถามไปยัง "นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว" นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงความเห็นต่อนโยบายนี้ นายเกียรติอนันต์ แสดงความกังวลว่า การจะนำเรื่องนี้ใส่ในหลักสูตร ต้องคำนึงถึงความพร้อมเชิงโครงสร้าง ผู้สอน และความพร้อมของเด็ก เพราะหากไม่คำนึงถึงบริบทของประเทศ จะทำให้เด็กด้อยโอกาสถูกทิ้งห่างจากเด็กเก่งมากขึ้น
นายเกียรติอนันต์ ตั้งคำถามต่อการนำเรื่อง Coding มาใช้ในการเรียนการสอนว่า โรงเรียนด้อยโอกาส มีอุปกรณ์พอหรือไม่ เพราะธรรมชาติของเด็กด้อยโอกาส จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด คำถามคือ โครงสร้างพื้นฐานไม่พร้อม นโยบายไม่พร้อม ใครจะเป็นผู้ดูแลเด็กกลุ่มนี้ต่อ โดยระบุว่า การจะสอน Coding แบบสิงคโปร์แต่ไม่เคยทดลอง จะทำตามแบบสิงคโปร์ทั้งหมดไม่ได้ เพราะไทยจะมีกลุ่มที่ Coding เก่ง เรียนเองได้ กระตือรือร้น และอีกกลุ่มที่มีความรู้เล็กๆ น้อยๆ จึงไม่ควรนำมาใช้โดยไม่ทดลองบนพื้นฐานความแตกต่างของเด็ก
เพราะหลักการสอนของเด็กเรียนเก่งและเด็กเรียนอ่อนไม่เท่ากัน 3 ชั่วโมงของการเรียน Coding เท่ากัน เด็กจะได้รับไม่เท่ากัน ยังไม่นับรวมกรณีโรงเรียนในต่างจังหวัดอินเทอร์เน็ตช้า เครื่องคอมพิวเตอร์ก็ช้า เด็กที่ไม่เข้าใจจะถามใคร หากต้องเรียนออนไลน์ทั้งประเทศ ในขณะที่บุคลากรผู้สอนก็ยังไม่พร้อม
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
สุดท้ายแล้วเด็กที่ชนะ ก็ชนะไปเรื่อยๆ เราต้องการจะติดอาวุธให้เขา แต่ผิดทิศ ผิดทาง
นายเกียรติอนันต์ ยังระบุถึงข้อเสนอ หากจะทำให้นโยบายเร่งด่วนของกระทรวงศึกษานำไปปฏิบัติใช้แล้วได้ผลจริง โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะ 1 ทดลองหาการสอน และการเรียนรู้ด้าน Coding ที่เหมาะกับเด็กแต่ละกลุ่ม ระหว่างนั้นต้องสำรวจความพร้อมเชิงโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ และบุคลากรเพื่อประเมินความพร้อมของโรงเรียน
ระยะ 2 ทดลองใช้กับโรงเรียนนำร่องทั่วประเทศ เพื่อจะได้เรียนรู้และปรับปรุงแนวทางให้เหมาะสม ยังรวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้าน Coding ให้เพียงพอ และไม่ควรจำกัดระบบการเรียนแบบออนไลน์เท่านั้นเด็กแต่ละคนกระตือรือร้นไม่เท่ากัน ถ้าเด็กเรียนอ่อน จะยิ่งดูดซับความรู้ได้น้อย จำเป็นต้องมีคนคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
ระยะ 3 คือ การค่อยๆ ขยายผลไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ
[ทีมข่าววาระทางสังคม]