การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เมื่อวานนี้ (25 ก.ค.2562) มีสมาชิกรัฐสภาร่วมอภิปรายนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ทั้ง ส.ส.จากพรรคฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดยเน้นไปที่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประชาชน เช่น นายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ได้ใช้ความรู้และประสบการณ์จบการศึกษาด้านครุศาสตร์ ร่วมอภิปรายนโยบายด้านการศึกษา โดยเสนอ 3 แนวทางปลดล็อกข้อจำกัด คือ
- การจัดตั้งศึกษาธิการจังหวัด หรือ กศจ. ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ใช้อำนาจ ม.44 ได้สร้างปัญหาบริหารงานบุคคลและงบประมาณ จึงควรตั้งเป้าหมายเพื่อบูรณาการทำงานกับหน่วยงานอื่น
- งบประมาณรายหัวอาหารกลางวัน 20 บาท ไม่ควรใช้รูปแบบเดียว บางโรงเรียนมีจำนวนนักเรียนน้อยไม่สามารถจัดการด้านคุณภาพได้
- การประเมินวิทยฐานะครูชำนาญการ (คศ.2) ต้องรอเวลาถึง 5 ปี ถึงได้ประเมิน คศ.3 กระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งสร้างขวัญกำลังใจให้กับครู
คำแถลงนโยบายถือว่าสมบูรณ์ แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้ปฏิบัติเป็นรูปธรรมต้องพิสูจน์กันในอนาคต พรรคภูมิใจไทย ให้ความสำคัญกับการแก้ไขกฎหมาย เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการ ทั้งเรื่องครูและโครงสร้างการบริหาร เช่น กรณีศึกษาธิการจังหวัดซ้ำซ้อนกับเขตพื้นที่การศึกษา สร้างปัญหาทั้งงานบุคคล และ การจัดการงบประมาณ
ด้าน ส.ส.ฝ่ายค้าน นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย วิพากษ์นโยบายการศึกษา กรณีคุณภาพของโรงเรียนที่มีความแตกต่าง สะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศ
ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย
ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ก็คือ ลูกคนจนเรียนโรงเรียนวัด เรียนโรงเรียนเทศบาล เรียนฟรี แต่โรงเรียนเทศบาลดีๆ ก็เข้าไม่ถึง ต้องมีค่าแป๊ะเจี๊ยะ
เปิดนโยบายด้านการศึกษา
สำหรับนโยบายด้านการศึกษา ถูกบรรจุไว้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวานนี้ ข้อ 8 "การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย" ที่มีรายละเอียดย่อย 7 ข้อ คือ
- ส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัย
- พัฒนาบัณฑิตพันธุ์ใหม่
- พัฒนาอาชีวะ พัฒนาคุณภาพวิชาชีพ และพัฒนาแรงงานรองรับ
- ดึงดูดคนเก่งจากทั่วโลกเข้ามาร่วมทำงานกับคนไทย และส่งเสริมผู้มีความสามารถสูง
- วิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ
- ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทุกช่วงวัย
- จัดทำระบบปริญญาชุมชนและการจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น
และปรากฏอยู่ในนโยบายเร่งด่วน ข้อที่ 7 "การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21" ที่ระบุถึงการสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ใหม่ในระบบดิจิทัล เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ของสถาบันการศึกษาสู่สาธารณะ เชื่อมโยงระบบการศึกษากับภาคปฏิบัติจริงในภาคธุรกิจ (ดู คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา)
ขณะที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดให้มี คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา หรือ กอปศ. มีวาระในการทำงาน 2 ปี ซึ่งหมดวาระไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ในรายงานของคณะกรรมการฯ ระบุว่า หากมีการปฏิรูปการศึกษาตามแนวทางที่เสนอ อีก 10 ปีต่อจากนี้ น่าจะเห็นผลที่เป็นรูปธรรม 4 ข้อ
- เด็กไทยจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเทียบเท่าระดับสากล
- ความเหลื่อมล้ำ จะถูกเปลี่ยนเป็นความต่าง ที่ทุกคนจะมีโอกาสพัฒนาความสามารถตามความถนัดของตัวเอง
- การศึกษาจะช่วยยกระดับการแข่งขันของประเทศ
- มีระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ
แม้เป้าหมายและแผนปฏิรูปการศึกษาจะมีความครอบคลุมในทุกด้าน แต่ ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา อดีตประธาน กอปศ. ระบุว่า นโยบายนี้แม้เป็นหลักคิดที่มาถูกทางแต่ยังไปไม่สุด อย่างการส่งเสริมการเรียนรู้ตามช่วงวัยและตลอดชีวิต หรือ การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ใหม่ในระบบดิจิทัล เป็นเหมือนการนำนโยบายที่พรรคร่วมรัฐบาลเคยหาเสียงมารวมกับข้อมูลจากรายงาน Commission report ที่ กอปศ. เสนอก่อนหมดวาระ แต่ยังขาดหัวใจสำคัญของการปฏิรูป ที่มองเห็นภาพรวมทั้งระบบ โดยเฉพาะการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งไม่ถูกกล่าวถึงเลยในนโยบาย
ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา อดีต ประธาน กอปศ.
เรื่องการศึกษาเห็นชัดว่าเป็นปัญหาที่ซับซ้อนหลายด้าน ต้องมองทั้งระบบ อยู่ที่รัฐบาลจะผลักดันร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ให้เดินต่อหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องรายละเอียด แต่เป็นเรื่องการปรับใหญ่ ปรับสภาพโครงสร้างใหญ่ อยู่ที่รัฐสภา ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะนโยบายของรัฐบาลต้องไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่มีอยู่
เครือข่ายการศึกษา จวกรัฐไม่มองการศึกษาหน่วยเล็ก
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือก ให้ความเห็นต่อโยบายด้านการศึกษา ว่าไม่ต่างจากนโยบายเดิมๆ ที่วางการศึกษาทั้งระบบให้อยู่ภายใต้การสั่งการจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยอธิบายว่า ระบบสั่งการแบบบนลงล่างที่มีกรอบ ระเบียบ ข้อบังคับรูปแบบเดียว ไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างคน จึงเชื่อว่า นโยบายหลักด้านหนึ่งของรัฐบาลที่ให้น้ำหนักกับการปฏิรูปการเรียนรู้และเตรียมคนไทยเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 จะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ ยังสะท้อนว่า ปัจจุบันมีกลุ่มคนจำนวนมากตื่นตัวและพยายามสร้างหน่วยการศึกษาเล็กๆ ขึ้นเอง แต่ยังไม่ได้รับการส่งเสริม
ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก
เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการลดขนาดให้เล็ก แล้วทำหน้าที่เป็นหน่วยอำนวยการมากกว่าเป็นหน่วยสั่งการ และควรมีการจัดตั้งองค์กรอิสระที่มาจากทุกภาคส่วน เดินหน้าภารกิจจัดเตรียมทรัพยากรบุคคลรองรับศตวรรษที่ 21 ดีกว่าออกนโยบายกว้างๆ แต่ยากจะทำจริง
ด้าน น.ส.อินทิรา วิทยสมบูรณ์ ผู้ประสานงานสมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา ระบุว่า รัฐมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัย ขณะที่นโยบายยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กยังเดินหน้าต่อ ซึ่งโรงเรียนเล็กเหล่านี้เป็นพื้นที่เรียนรู้ของเด็กปฐมวัยและประถม ที่สัมพันธ์กับวิถีชุมชนท้องถิ่น ขณะเดียวกัน การส่งเสริมการพัฒนาปฐมวัยของรัฐก็มองไม่เห็นพื้นที่เรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งที่ ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน ศาสนสถานในชุมชน หรือ พื้นที่สาธารณในชุมชนล้วนเป็นพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และเติบโตของผู้คน
น.ส.อินทิรา ยังระบุอีกว่า กระบวนทัศน์เช่นนี้จึงต้องการคนดี โดยผ่านการส่งเสริมอุดมการณ์หลักที่รัฐกำหนดว่าดีงามถูกต้อง ขณะที่โลกเปลี่ยน สังคมพหุมีความแตกต่างหลากหลาย ดังนั้น การมุ่งส่งเสริมอุดมการณ์แบบรัฐชาติที่ผูกติดกับอำนาจนิยมในห้องเรียนหรือโรงเรียน จึงไม่สอดคล้องกับความเป็นไปของโลก และแน่นอนว่า เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ ก็จะแสดงออกด้วยการวิพากษ์ เคลื่อนไหวเพื่อแสดงออกถึงการไม่ยอมรับอุดมการณ์ หรืออำนาจเหล่านั้น
อินทิรา วิทยสมบูรณ์ ผู้ประสานงานสมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา
แน่นอนว่าเรากำลังวิพากษ์นโยบายเหล่านี้จากการอ่านเอกสารคำแถลงเพียงไม่กี่หน้า ไม่กี่บรรทัด สิ่งจำเป็นคือหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำให้นโยบายที่กำหนดขึ้น ทำงานกับผู้คนอย่างรอบด้าน กว้างขวาง และหลากหลาย และที่สำคัญคือมีส่วนร่วม ปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ มิฉะนั้นก็ไม่ต่างอะไรจากเหล้าเก่าในขวดใหม่ นโยบายเดิมๆ แค่เปลี่ยนรัฐมนตรี
สำหรับความเห็นของ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล นักวิชาการด้านการศึกษา ต่อนโยบายของรัฐบาล ระบุว่า ยังเน้นเพื่อใช้ปฏิบัติการ แต่ไม่ได้มองเชิงระบบว่ามีปัญหาอะไร เช่น นโยบายแก้ปัญหาหนี้สินครู ที่มองแต่เรื่องตัวเงิน ไม่ได้มองไปที่ระบบสวัสดิการ คุณภาพชีวิต ภาระงาน และรูปแบบการเรียนการสอน ซึ่งเกี่ยวพันกันทั้งหมด หรือ เรื่องการแก้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่ไม่ได้เชื่อมโยงไปหาปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทับถมมาตลอดหลายสิบปี มีเพียงผู้รับผิดชอบเฉพาะส่วน แต่ไม่ได้มีศูนย์กลางสร้างความเป็นเอกภาพแก้ไขปัญหาทั้งองคาพยพ เช่น การแก้ปัญหาโรงเรียนด้วยการสร้างเกณฑ์จากส่วนกลาง แต่ไม่สอดคล้องการปฏิบัติในพื้นที่ เพราะไม่มีความชัดเจนเรื่องการกระจายอำนาจและความเป็นอิสระเพื่อให้โรงเรียนแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัญหาการศึกษานับวันยิ่งเหมือนปมเชือกที่พันกันอีรุงตุงนัง เชื่อว่าคงไม่สำเร็จในรัฐบาลชุดเดียวด้วยรัฐมนตรีแค่ไม่กี่คน ท่านควรทำหน้าที่เป็นผู้ประสานความหวังของสังคมให้มากขึ้นในการทำงาน ยิ่งตอนนี้แยกกระทรวงอุดมศึกษาเป็นกระทรวงใหม่ ทำอย่างไรไม่ให้กระทรวงศึกษาธิการหลุดจากการทำงานร่วมกัน
[ทีมข่าววาระทางสังคม]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ส่องนโยบายพรรคการเมือง "การศึกษา"
ครม.มีมติปรับแก้เงินอุดหนุนกองทุนการศึกษา
พลิกปมข่าว : กระทรวงศึกษาฯ ภารกิจปฏิรูปกระทรวงเกรด B