ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ค่าแรง 400 บาท จุดชนวนปัญหาใหม่เศรษฐกิจ

สังคม
22 ก.ค. 62
22:48
4,290
Logo Thai PBS
ค่าแรง 400 บาท จุดชนวนปัญหาใหม่เศรษฐกิจ
ตอนหาเสียง ทุกพรรคเห็นพ้องไปทางเดียวกันว่า ค่าจ้างขั้นต่ำต้องปรับขึ้น พร้อมกับเสนอตัวเลขแบบก้าวกระโดด แต่ขณะนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร อะไรที่จะตามมาหากปรับจริงอย่างที่เคยสัญญาไว้

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจุถูกบรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วนช่วงขวบปีแรงของรัฐบาล ทางคณะกรรมการค่าจ้างก็รอเพื่อสรุปในการประชุมปรับอัตรารอบใหม่เดือนนี้เช่นกัน ความเคลื่อนไหวในตอนนี้ทันที่ที่ได้รัฐมนตรีแรงงานใหม่ คือ ทั้งตัวแทนฝ่ายแรงงานขอทวงสัญญาที่หาเสียงเอาไว้ และถูกโต้กลับเป็นพัลวันจากฝ่ายเอกชนที่ไม่เห็นด้วย

 

เอกชนบอกรับไม่ได้ ถ้าค่าจ้าง 310-330บาท จะกระโดดไป 400 ทันที ด้วยเหตุผลว่า ไม่สามารถแก้ปัญหารายได้แรงงานได้จริง กลุ่มที่คาดว่าจะได้ค่าแรงเพิ่ม เหมือนเป็นโบนัส น่าจะกระจุกอยู่ที่กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มีประมาณ 3.7 ล้านคน เพราะส่วนใหญ่ใช้ค่าจ้างขั้นต่ำ  อย่างที่สอง ไม่ช่วยยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ใช้แรงงานอย่างยั่งยืน 

 

การศึกษาของ มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา พบว่าการปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาททั่วประเทศ ปี 2555 แม้ค่าแรงปรับขึ้นไปทันทีประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ลูกจ้างถูกลดชั่วโมงการทำงานลง 2-6 วันต่อสัปดาห์ โอที โบนัส หายไป 17 เปอร์เซ็นต์ สวัสดิการถูกตัด 30 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่ควรได้ถูกตัดหายไป และค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเร็วกว่าเงินเฟ้อทั่วไป 3.5 เปอร์เซ็นต์ คือมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น

  

ส่วนกราฟนี้ บอกได้ว่านายจ้างที่ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี อยู่ไม่ไหวจริงๆ การขึ้นค่าจ้างเป็น300 บาทต่อวัน ทำให้สถานประกอบการปิดตัวมากขึ้น จากเดิมสถานประกอบการที่จดทะเบียนนิติบุคคล ปิดตัว 7,000 รายต่อปี กลับเพิ่มขึ้น 1.4 เท่า หรือ ประมาณ 17,000 ราย แม้มีผลกระทบจากอุทกภัยปี 2554 แต่การปิดตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ

ผลร้ายจึงย้อนกลับไปที่ลูกจ้างที่มีโอกาสถูกลอยแพ ไม่มีงานทำ กราฟนี้ยังไม่รวมสถานประกอบการอื่นที่ไม่ได้จดทะเบียน ส่วนสถานประกอบการขนาดใหญ่ จะค่าจ้างใหม่จะเป็นปัจจัยกดดันหาทางออกใช้อุปกรณ์แทนคนเร็วขึ้น

 

การปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดดนี้ จึงเสมือนให้ลูกจ้างดีใจชั่วครั้งชั่วคราวแต่ท้ายสุดต้องตกงาน จึงเป็นที่มาว่า ฝ่ายผู้ประกอบการจึงรีบส่งเสียงดังตอบโต้ทันที ว่าปรับค่าจ้างปรับได้ แต่ปรับให้สัมพันธ์กับความสามารถของลูกจ้างได้หรือไม่ ปรับไม่เท่ากันทุกที่ปรับให้สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจสังคมในจุดนั้นได้หรือไม่ และ คณะกรรมการไตรภาคีอยากให้ขยาย มีตัวแทนภาคเอกชนและภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องนอกจาก รัฐ สภานายจ้าง สภาลูกจ้าง กลายเป็นพหุภาคี

ผลกระทบไม่ได้จำกัดวงแค่ลูกจ้างและนายจ้างแต่ละสถานประกอบการ ราคาสินค้ารอจ่อปรับขึ้น มีผลต่อค่าครองชีพของทุกคนจะสะท้อนเป็นบูมเมอแรง และต่อสายยาวเป็นลูกโซ่ลูกจ้างเอกชน มนุษย์เงินเดือนทุกกลุ่ม ค่าครองชีพขยับก็ต้องเรียกร้องให้ปรับตาม แม้ข้าราชการเองก็อาจเงินเดือนไม่พอใช้ รัฐอาจต้องเพิ่มงบประมาณให้ปรับขึ้นทั่วหน้า 

 

ที่มาตัวเลข 400 - 425 บาทต่อวัน มาจากข้อเสนอพรรคการเมือง ที่ไม่แน่ใจว่าคิดคำนวณจากฐานใด ขณะนี้พรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝั่งรัฐบาลก็จริง ในทางกลับกัน หากพรรคเพื่อไทย เป็นรัฐบาล ก็หนีไม่พ้น เพราะตัวเลขปรับค่าจ้างเหมือนกัน แม้ตอนนี้ เจ้ากระทรวง หม่อมราชวงศ์จตุมงคล โสณกุล จากรวมพลังประชาชาติไทย จะยังแบ่งรับแบ่งสู้นโยบายที่มาจากพรรคแกนนำ แต่ไม่รู้จะทนแรงกดดันได้นานแค่ไหน

เสียงทวงถาม เสียงคัดค้าน กำลังดังอื้ออึง น่าสนใจว่า สัญญาของภาครัฐจะลงเอยอย่างไร จะอธิบายอย่างไรให้นายจ้าง ลูกจ้างเข้าใจในเหตุและที่มา และจะยอมให้สัญญาการเมืองอยู่เหนือเหตุและผลหรือไม่ ปัญหาเก่าไม่ได้แก้ แต่กำลังจะผูกปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง