ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ธุรกิจ...สอบ ป.1

สังคม
15 ก.ค. 62
14:16
1,911
Logo Thai PBS
ธุรกิจ...สอบ ป.1
“เด็กอนุบาล” ที่จะเข้าเรียนต่อ ชั้น ป.1 ปีการศึกษาหน้า สำหรับโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนเครือสาธิต ส่วนใหญ่ยังต้องผ่านการสอบคัดเลือก เพราะกฎหมายไม่มีข้อบัญญัติห้ามเอาไว้

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ผู้ปกครองของลูกหลานอยู่อนุบาลต้องวิ่งรอก สมัครสอบเข้า ป.1 โรงเรียนเอกชน ส่วนโรงเรียนเครือสาธิต จะสอบช่วงต้นปีหน้า เบื้องหลังของเด็กเหล่านี้ ใช้เวลา ใช้เงินกับการติวเข้า ป.1 กันเป็นปีๆ

 

ผู้อ่านอาจยังจำเหตุการณ์เมื่อปี 2560 แม่ของเด็กคนหนึ่งออกมาเปิดเผยว่า ครูกวดวิชาติวเด็กสอบเข้า ป.1 ใช้อุปกรณ์ตีเด็กจนบาดเจ็บ แม่บอกว่าถูกเรียกเก็บเงินแพง ตอนอยู่อนุบาลสอง จ่าย 54,000 บาทเพื่อเรียนปูพื้นฐาน อนุบาลสาม จ่าย 1.6 แสนบาท เพื่อเรียน 300 ชั่วโมง

แม่ของเด็กยอมจ่ายเพราะเชื่อว่าการติวจะช่วยให้ลูกมีแต้มต่อในการสอบ เพราะก่อนหน้านี้หลายคนเรียนที่นี่แล้วสอบติด นี่เป็นกรณีหนึ่งที่ต้องทบทวนว่าเด็ก ป.1 ต้องใช้วิธีสอบเข้าหรือไม่ 

 

แม้พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่การห้ามจัดสอบเรียนต่อชั้นเด็กเล็ก ไม่ได้บัญญัติไว้ เพราะถูกตีตกตั้งแต่ชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา คงเหลือแต่ข้อกำหนดบางอย่าง เช่น มาตรา 14 วงเล็บ 7 กำหนดว่าเกณฑ์รับเด็กต้องไม่ให้มีผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ส่วนมาตรา 8 สำหรับโรงเรียนที่สอนเด็กปฐมวัย ต้องทำเพื่อเตรียมความพร้อม

 

โดยสรุปคือโรงเรียนเอกชน เครือสาธิตยังใช้วิธีสอบได้ แต่ต้องไม่กดดันเด็กเกินไป

 

เฉพาะสาธิตชื่อดังในกรุงเทพฯ 3 โรงเรียน แต่ละปีจะประกาศรายชื่อผ่านเพียง 300 คน คนผิดหวังมากกว่า 8 พันคน เพราะรับเด็กได้จำกัด คอร์สติวเข้มจึงเกิดขึ้น ติวล่วงหน้า 1-2 ปี บางแห่งชื่อดังจองที่นั่งตั้งแต่ลูกคลอด เท่าที่สำรวจมาสนนราคา 4 หมื่น - 5 หมื่นบาท ต่อ 40 ชั่วโมง

 

เด็กบางคนเรียนมาราธอนเช้าเรียนกวดวิชาแห่งหนึ่ง บ่ายเรียนกรุ๊ปเล็กอีกแห่ง ตอนเย็นหลังโรงเรียนเลิกเรียนเรียนต่ออีกชั่วโมงละ 500 บาท รวมถึงสถาบันฝึกทักษะเด็กต่างๆ ราคาคอร์สละหลายหมื่นบาท

 

ผลสำรวจศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจช่วงเปิดเทอมใหญ่ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่าง 450 คนคละชั้นเรียน ในกรุงเทพและปริณฑล ค่าการศึกษา 28,220 ล้านบาท จากเงินจำนวนนี้ มีกลุ่มตัวอย่างหลายคนมองว่าเพิ่มขึ้น จากค่าเรียนพิเศษ/กวดวิชา และการเรียนเสริมทักษะต่างๆ ประมาณ 2,500 - 5,000 คน

 

เท่าที่พบข้อมูลมูลค่าตลาดธุรกิจกวดวิชาในระบบ เคยสำรวจกันไว้ ประมาณ 8,189 ล้านบาท ทุกระดับชั้นไม่ใช่เฉพาะติวสอบ ป.1 เป็นตัวเลขในระบบที่จดทะเบียน แต่ยังมีแบบไม่ได้จดทะเบียนอีกจำนวนมาก

 

บางคนบอกไม่ส่งลูกติว พ่อแม่ติวเอง ธุรกิจที่สร้างรายได้ตามมาคือร้านหนังสือ ทั้งแบบร้านค้า และร้านค้าออนไลน์ มีทั้งคู่มือพ่อแม่เตรียมลูกสอบสาธิต ตัวอย่างข้อสอบย้อนหลัง แบบฝึกเชาวน์ แบบเรียนล่วงหน้า

 

ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเตรียมตัวสอบ ป.1 ยังรวมถึงของเล่นเตรียมสอบสาธิต ฝึกคิดลับสมอง เชาวน์ปัญญา เลขฐาน 10 ฐาน 6 ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ ร้อยเชือก อนุกรม ขายดิบขายดีสารพัด ธุรกิจเหล่านี้เติบโตเพราะการใช้ระบบสอบคัดเลือกอนุบาลและ ป.1

 

อดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา บอกว่าเริ่มเห็นโรงเรียนเครือสาธิตขยับ ปรับวิธีการสอบให้ไม่เป็นการกดดันเด็กมากเกินไป ตามข้อบัญญัติในกฎหมายแล้ว

ถึงแม้วันหนึ่งยกเลิกการสอบคัดเลือกเด็กเล็กแล้ว แต่เชื่อว่าธุรกิจติวสอบ หนังสือ หรือ ของเล่น จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะโรงเรียนดัง ทั้งเอกชน และเครือสาธิต ยังต้องหาวิธีการคัดเลือกเด็กในนิยามใหม่ เช่น การให้เด็กผูกเชือกรองเท้า ให้ทำกิจกรรมอื่นๆ

 

ธุรกิจติวทั้งหลายเหล่านี้ก็สามารถปรับตัวตามได้ เช่น จัดคอร์สติวความพร้อมตามรูปแบบการคัดเลือกใหม่ ปรับเนื้อหาหนังสือคู่มือพ่อแม่แบบใหม่ให้สอดรับกับวิธีการใหม่ ของเล่นเสริมพัฒนาการก็สามารถออกแบบให้ล้อตามการสอบแบบใหม่ได้ เด็กๆ ก็ยังต้องเดินตามเส้นทางติวแบบนี้อยู่ดี

ขณะเดียวกันเรื่องแป๊ะเจี๊ยะเงินผู้มีอุปการะคุณโรงเรียน ก็ไม่หมดไป เพราะยิ่งมีการทดสอบที่ไม่มีเกณฑ์วัดตายตัว ยิ่งเสี่ยงต่อการต่อรองด้วยเงินจากผู้ปกครอง

 
นักการศึกษาบางคนยอมรับว่า การแข่งขันเข้าโรงเรียน มาจากคุณภาพการศึกษาที่มีความเหลื่อมล้ำ และยังแก้ไขไม่ได้ ขณะเดียวกันยังเป็นดุลยพินิจของโรงเรียน ว่าจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ทัศนคติผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนท็อป โรงเรียนดี ไม่ว่าสอบข้อเขียนหรือสอบวิธีอื่น สุดท้ายเด็กก็ไม่พ้นต้องถูกกดดัน


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง