ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นโยบาย "ไฟฟ้าฟรี" เดินหน้าแบบไหน

เศรษฐกิจ
6 ก.ค. 62
16:28
9,184
Logo Thai PBS
นโยบาย "ไฟฟ้าฟรี" เดินหน้าแบบไหน
มาตรการค่าไฟฟ้าฟรี ถูกใช้มาต่อเนื่องนานกว่า 10 ปีแล้ว และมีการปรับเกณฑ์มาเป็นระยะ หากจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป ผู้วิจัยจากทีดีอาร์ไอ เสนอว่าควรต้องปรับปรุงมาตรการนี้ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น

ก่อนจะมี ครม.ชุดใหม่ ที่จะพิจารณาตัดสินใจว่าโครงการไหนจะไปต่อ โครงการไหนจะยุติ หนึ่งในนั้นคือ มาตรการค่าไฟฟ้าฟรี ที่ใกล้เคียงกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ ให้ค่าไฟฟ้าฟรีบางส่วนเช่นกัน ทำให้ต้องมาทบทวนมาโครงการแบบนี้คนจนได้จริงหรือไม่


มาตรการไฟฟ้าฟรี เริ่มใช้ตั้งแต่ 12 ปีก่อน ตอนปี 2551 ขณะนั้นระบุว่าเป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ต่อมากลายเป็นมาตรการถาวร โดยมีเงื่อนไขว่าหากมีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 80 หน่วยจะได้ใช้ฟรี แต่หากเกิน 80 หน่วยแต่ไม่เกิน 150 หน่วยจะได้รับการอุดหนุนครึ่งหนึ่ง

ต่อมา เกิดข้อท้วงติงว่ามีคนไม่เดือดร้อนได้รับการช่วยเหลือด้วย ภาครัฐจึงปรับหลักเกณฑ์อุดหนุนมาหลายครั้ง ปัจจุบันมาตรการดังกล่าวจะให้สิทธิไฟฟ้าฟรีแก่ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยติดต่อกันตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปเท่านั้น

ทีมวิจัยจากทีดีอาร์ไอ นำโดย วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ ศึกษามาตรการนี้ ระหว่างปี 2556 - 2558 ว่ามีประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด ลดภาระครัวเรือนอย่างครอบคลุม และตรงกลุ่มเป้าหมายหรือไม่

ด้านดีที่เห็นได้ชัดไฟฟ้าฟรีเข้าถึงคนจนได้ดี เมื่อดูเป็นเชิงพื้นที่รายจังหวัด จังหวัดไหนมีคนจนมาก จำนวนคนได้สิทธิ์มากตาม ลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนได้เฉลี่ย 2 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน

แต่คนที่ได้รับการช่วย พบว่าได้ไม่พอตามความจำเป็น เพราะหากคำนวณจากครัวเรือนที่มีสมาชิกเฉลี่ย 2.5 คน มีความต้องการไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณ 60 หน่วยต่อเดือน ขณะที่ข้อมูลจากการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พบว่าครัวเรือนยากจนในไทยมีมีสมาชิก 3.5 คน บางครอบครัวมีมากกว่า 5 คน จึงบ่งชี้ว่าสิทธิไฟฟ้าฟรี 50 หน่วย ไม่เพียงพอและไม่เป็นธรรมกลับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย


ขณะเดียวกัน โครงการนี้ ยังบิดเบือนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า ....คนใช้ไฟพยายามให้ยอดการใช้อยู่ตามเกณฑ์ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยพอดี คนใช้น้อยก็ใช้เพิ่ม เพราะใช้เพิ่มก็ไม่เสียเงินตราบใดที่ไม่เกิน 50 หน่วย ทางกลับกันคนใช้สูงกว่า 50 หน่วยเล็กน้อย พยายามลดการใช้ไฟฟ้าลงให้ต่ำกว่า 50 หน่วยจะได้ใช้สิทธิ์ การใช้กระจุกอยู่ตรง 50 หน่วย การบิดเบือนแบบนี้ ต้องใช้เงินอุดหนุนเพิ่มทั้ง 2 แบบอย่างน้อย 18 - 23 ล้านบาทต่อปีด้วย

ถ้าถามว่าใครรับภาระค่าไฟฟ้าที่นโยบายนี้ยกเว้นให้ ตอนแรกใช้งบจากคลัง แต่ภายหลังให้ กิจการขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม การผลิตอาหาร โรงแรม ผลิตเครื่องจักร สิ่งทอ และเหล็ก มารับ ในฐานะใช้ไฟฟ้ามาก ใช้ทรัพยากรมาก ก็มาช่วยอุดหนุนผู้มีรายได้น้อย ทีมทีดีอาร์ไอประเมินว่าทำให้ต้นทุนค่าไฟ 1 เปอร์เซ็นต์ อาจไม่มากนัก แต่นโยบายนี้ ยังมีปัญหาด้านความเป็นธรรม คือ สิทธิรั่วไหล และเข้าไม่ถึงผู้มีรายได้น้อยจริง

ผู้มีรายได้น้อยจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงสิทธิ์ เพราะใช้ไฟฟ้าแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของมิเตอร์ไฟ ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่าง คนเช่าห้อง ไม่ใช่บ้านตัวเอง ไม่มีชื่อเป็นเจ้าของมิเตอร์ หรือเป็นเพิงพักชั่วคราว

ส่วนกลุ่มเรียกว่าเงินรั่วไหลไปกับคนที่ไม่จนจริง อย่างเข้าเกณฑ์ใช้ไฟไม่ถึง 50 หน่วยต่อเนื่อง 3 เดือนได้ เพราะเป็นบ้านหลังที่สอง มีบ้านแล้วไม่เข้าพัก เฉพาะปี 2557 มีค่าไฟที่เกิดจากครอบครัวกลุ่มนี้ เสียไปรวม 830 ล้านบาท

 

ที่ผ่านมาคนใช้ไฟฟ้าฟรียังใช้มาตรการเดิมต่อไปได้ หากรัฐบาลใหม่ ต้องการนำมาตรการนี้ไปใช้ ผู้วิจัย มองว่าสิ่งจำเป็นคือมอง คือ หนึ่ง หาคนได้รับสิทธิให้ถูกฝาถูกตัว ลงทะเบียน หรือผ่าน อสม. หรือ ใช้ Big Data บิลค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ การใช้โทรศัพท์มือถือ มาประกอบใช้จะได้ผลดี อย่างที่สอง ช่องทางใช้งาน หากใช้ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ควรเป็นแบบเหมาจ่าย ไม่ต้องจำแนกว่าให้ค่าใช้จ่ายแต่ละอย่างเท่าไหร่ เช่น ให้วงเงิน 300 บาท จะชำระเป็นค่าไฟฟ้าทั้งหมดก็ได้ ไม่ต้องบังคับให้เป็นค่ารถเมล์ ค่าแก๊ส อย่างที่สาม ควรใช้งบจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก หรืองบประมาณประจำปี ไม่เดือดร้อนต่อธุรกิจอื่น

สิ่งที่ต้องระมัดระวังอีกอย่างคือต้องไม่กระทบ เป็นภาระกับรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค หรือ เงินงบประมาณมากเกินไป ผลวิจัยครั้งนี้ จะเป็นแนวทางพิจารณาความช่วยเหลือในอนาคตที่เชื่อว่ายังคงมาตรการลักษณะเดียวกันนี้ต่อไป

พิมพิมล ปัญญานะ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง