ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สุดเศร้า "หนูแดง" ลูกช้างป่วยโรคเฮอร์ปีส์ไวรัสตายแล้ว

สิ่งแวดล้อม
29 มิ.ย. 62
16:44
5,015
Logo Thai PBS
สุดเศร้า "หนูแดง" ลูกช้างป่วยโรคเฮอร์ปีส์ไวรัสตายแล้ว
สูญเสียลูกช้างป่าอายุ 1 ปีพลัดหลงแม่อีก 1 ตัวหลังโชคร้ายป่วย “โรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง” สัตวแพทย์ช่วยดูแลพยุงอาการเกือบสัปดาห์ หลังปรากฎของรอยโรค EEHV ลิ้นมีจุดเลือดออก ปากบวม คอบวมแต่อาการหนัก และตายวันนี้

วันนี้( 29 มิ.ย.2562) สัตวแพทย์หญิงณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ประจำ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า หลังจากทีมสัตวแพทย์ ได้รักษาลูกช้างป่าพลัดหลง ตัวผู้ อายุประมาณ 1 ปี ชื่อหนูแดงที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีอาการป่วยจากโรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง (EEHV)​

ช่วงเช้าพบว่าหนูแดง ได้ล้มตัวลงนอนแบบเฉียบพลัน 3 ครั้ง มีอาการหายใจลำบาก สัตวแพทย์ได้ทำการพยุงอาการโดยให้ออกซิเจน ให้สารน้ำ และยาฉุกเฉิน มีการแสดงอาการของรอยโรค EEHV ลิ้นมีจุดเลือดออก ปากบวม คอบวม

ทีมสัตวแพทย์ได้เลือดของช้างบ้านตัวเต็มวัย ที่สามารถให้ได้โดยตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้ว ซึ่งในวันนี้อยู่ระหว่างการรอให้เลือดเพิ่มเติมเพื่อช่วยพยุงอาการ ทั้งนี้ อาการที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด เสี่ยงต่อการเสียชีวิตในลูกช้างซึ่งเป็นโรค EEHV

ล่าสุดช่วงบ่ายเมื่อเวลา 13.00 น.หนูแดงตายแล้ว หลังจากนี้ทีมสัตวแพทย์ที่ดูแลคือ สพ.ญ.สุภกานต์ แก้วโชตินายสัตวแพทย์ประจำสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า สพ.ญ. ชญานิศ ประสานวงศ์ สัตวแพทย์ประจำ สถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ จ.ชลบุรี จะผ่าชันสูตรและฝังซากหนูแดงต่อไป

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

โชคร้ายป่วยไวรัสในช้างอาการทรุด

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ได้เฝ้าดูแลและติดตามลูกช้างป่าหนูแดง อายุประมาณ 1 ปี บริเวณพื้นที่บ้านอ่างเตย ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา พลัดหลงมาตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อรอให้โขลงช้างป่าเข้ามารับ แต่โขลงช้างป่าไม่รับเข้าโขลง จึงต้องกำหนดแผนการดูแลเพื่อความปลอดภัยของลูกช้างและเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่และทีมสัตวแพทย์ได้เคลื่อนย้ายลูกช้างป่าหนูแดง เพื่อนำมาดูแลต่อที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เพื่อฟื้นฟูสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์

แต่สัตวแพทย์เจาะเลือดตรวจและพบหนูแดงป่วยเป็นโรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง (EEHV) กระทั่งเริ่มทรุดตัวลงในวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพราะเริ่มเกิดภาวะอาการเจ็บบริเวณลำคอ ช่องปาก และเริ่มมีอาการบวมของลำคอ ช่องปาก ซึ่งเป็นการแสดงอาการของไวรัส EEHV ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมากในระยะที่เชื้อไวรัสแสดงอาการ

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

ซึ่งผลการผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณเชื้อไวรัส EEHV ในกระแสเลือด ทางห้องปฏิบัติการ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน พบว่ายังคงมีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกายและมีเชื้อจำนวนมาก ผลการตรวจค่าเลือดและค่าชีวเคมีในเลือด ณ ห้องปฏิบัติการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ห้องปฏิบัติการ คณะสัตวแพทยศาตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคล บางพระ และ ห้องปฏิบัติการของเอกชน พบว่าค่าตับสูง และ เลือดจาง 

กระทั่งทีมสัตวแพทย์ได้ทำการให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำและทางทวารหนัก และให้ยาปฏิชีวนะเข้าทางหลอดเลือดดำ ให้ยาต้านไวรัส ให้วิตามินบำรุงร่างกาย ให้น้ำตาลกลูโคสเจือจางกรณีลูกช้างมีสภาวะน้ำตาลตก และให้เดินเพื่อกระตุ้นให้ลำไส้เกิดการทำงานและเพิ่มระบบไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้น โดยใช้รอกช่วยพยุงภายในคอกเลี้ยง

ขณะที่หนูแดงยังคงกินอาหารได้เอง ทั้งต้นหญ้า ต้นกล้วย ต้นถั่ว และสามารถกินอาหารที่ทีมสัตวแพทย์เสริมให้ได้ โดยพบว่าหนูแดงฉี่และขับถ่ายเป็นปกติ กระทั่งช่วงเช้าวันนี้หนูแดง เริ่มมีอาการทรุดลงและตายในที่สุด

 

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

รู้จักโรคเฮอร์ปีส์ไวรัสช้างในไทย

สำหรับโรคติดเชื้อไวรัส EEHV ในลูกช้างเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง และมีอัตราการตายที่สูงในลูกช้าง ในไทยตรวจเจอครั้งแรกเมื่อปี 2008 ซึ่งไวรัส จะทำลายผนังหลอดเลือดและแพร่กระจายตามกระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย และทำให้เกิดการ บวมน้ำใต้ผิวหนังบริเวณหัว งวง คอ ขาหน้า โดยเฉพาะในลูกช้างเอเชียอายุ 1-10 ปีจะแสดงอาการและตายอย่างเฉียบพลันภายใน 1-7 วัน

โดยหนูแดง มีอาการของโรคนี้ โดยได้ล้มตัวลงนอนแบบเฉียบ 3 ครั้ง มีการหายใจลำบาก สัตวแพทย์ได้ทำการพยุงอาการโดยให้ออกซิเจน ให้สารน้ำ และยาฉุกเฉิน มีการแสดงอาการของรอยโรค EEHV ลิ้นมีจุดเลือดออก ปากบวม คอบวม ทีมสัตวแพทย์ได้เลือดของช้างบ้านตัวเต็มวัย ที่สามารถให้ได้โดยตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้ว แต่ไม่สามารถช่วยพยุงอาการของเจ้าแดงได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง