ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จ่อลดโควต้านำเข้าซากอุตสาหกรรม-ยึดใบอนุญาต

เศรษฐกิจ
31 พ.ค. 62
18:49
653
Logo Thai PBS
จ่อลดโควต้านำเข้าซากอุตสาหกรรม-ยึดใบอนุญาต
เหตุการณ์ไฟไหม้คอนเทนเนอร์แหลมฉบังช่วงสุดสัปดาห์ วุ่นวายเพราะไม่สำแดงสินค้าข้างในว่าเป็นอะไร ทำให้คอนเทนเนอร์ตกค้างที่ท่าเรือ ถูกเปิดตรวจสอบ เผื่อเป็นสารอันตราย แต่เปิดแล้วกลับเป็นขยะพลาสติก

นายบรรจง สุกรีฑา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ชี้แจงว่า กระบวนการตรวจปล่อยซากแผ่นพลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขณะนี้ สามารถตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ทุกฝ่ายโดยเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องถ่ายรูปตัวเอง พร้อมหมายเลขตู้ แล้วอัพโหลดเข้าระบบสารสนเทศกลาง เพื่อให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ในพื้นที่โรงงานปลายทาง ตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อป้องกันขบวนการประมูลสินค้าตกค้างและวนกลับเข้าประเทศ อีกทั้งยังช่วยลดโอกาสสำแดงนำเข้าเท็จในปริมาณเกินโควต้าที่กำหนด

แต่ยอมรับว่า แม้มีมาตรการประสานการทำงานอย่างเข้มข้นแล้ว แต่ยังพบการลักลอบนำกากขยะอิเล็กทรอนิกส์ จากโรงงานที่ได้รับอนุญาตนำเข้าตามกรอบสนธิสัญญาบาเซล ไปโรงงานอื่น ซึ่งผิดเงื่อนไขตามกฎหมาย โดยกรมฯ อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลหลักฐาน เพื่อเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ และยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดำเนินการ เพราะติดขัดข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จึงทำได้เพียงส่งข้อมูลไปยังระบบกลางระหว่างกรมโรงงานและกรมศุลกากร เพื่อระงับการตรวจปล่อยสินค้าของบริษัท ที่มีประวัติปล่อยสินค้าตกค้างท่าเรือฯ

รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายหลังออกคำสั่งปิดโรงงานกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมไม่ได้มาตรฐาน ตั้งแต่ปีที่แล้ว พบว่า โรงงานที่ขอนำเข้ากากชิ้นส่วนพลาสติก นำเข้าไม่เต็มโควต้า ซึ่งล่าสุดมีโควต้าที่ถูกตัดออกประมาณ 450,000 ตัน จากปริมาณโควต้าที่กำหนด 740,000 ตัน และในปีหน้า กรมฯ จะลดปริมาณโควต้าเหลือ 200,000 ตัน เพื่อลดปริมาณการนำขยะเข้ามาในประเทศ

ส่วนกรณีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ร้องเรียนให้สื่อมวลชนตรวจสอบปัญหาการสวมสิทธิโควต้านำเข้าเศษแผ่นพลาสติกนั้น ทีมข่าวไทยพีบีเอส พบว่า สินค้าตกค้างในตู้คอนเทนเนอร์ ที่บริษัทดังกล่าวนำเข้า มีลักษณะเป็นแผ่นพลาสติกสภาพดี และอาจมีเจตนาหลบเลี่ยงภาษีนำเข้า ซึ่งสอดคล้องกับรายงานจากกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า บริษัทดังกล่าว นำผู้มีอิทธิพลเข้ากดดันผู้บริหารในกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อออกใบรับรองโควต้านำเข้าซากแผ่นพลาสติก ทั้งที่ บริษัท มีโควต้านำเข้าเศษแผ่นพลาสติก 1,400 ตัน แต่นำเข้ามาแล้วกว่า 3,000 ตัน เจ้าหน้าที่จึงไม่ยอมตรวจปล่อยออกจากท่าเรือฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง