วันนี้ ( 6 พ.ค.62.) นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่ใช้ตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งทางสำนักงานฯจะมีการนำคำร้องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 8 พ.ค.เพื่อพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นกรณีที่คณะราษฎรไทยแห่งชาตินำโดยนายพลภาขุน เศรษฐาญาบดี ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ร้องขอให้ตรวจสอบการตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. โดยอ้างว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ซึ่งให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและกรรมการทั้งหมดที่สื่อมีการเผยแพร่ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐและแคนดิเดตนายกฯของพรรค ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 269 ( 1 ) ที่กำหนดให้หัวหน้าคสช.ต้องตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว ที่ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญและมีความเป็นกลางทางการเมือง
ทั้งนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 269 (ค) กำหนดให้ คสช.คัดเลือก ส.ว.จากบัญชีรายชื่อที่ได้รับจาก กกต.จำนวน 50 คนและจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสรรหาอีก 194 คนรวมกับผู้ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกโดยตำแหน่ง 6คน รวมทั้งสิ้น 250 คน ให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 กำหนดไว้
เมื่อกกต. จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งส.ส.ในวันที่ 7- 8 พ.ค.นี้ คสช.ก็จะต้องดำเนินการคัดเลือก ส.ว.ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 11พ.ค.นี้ ดังนั้นเมื่อศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาว่าจะรับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัยหรือไม่ในวันที่ 8 พ.ค.แล้ว ต้องรอดูว่าหากศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย จะกำหนดขั้นตอนการพิจารณาอย่างไรและกำหนดจะวินิจฉัยลงมติได้ก่อนวันครบระยะเวลา ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ คสช.ต้องคัดเลือก ส.ว.ให้แล้วเสร็จหรือไม่