ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สำรวจ "ถ้ำหลวง" ครั้งแรกในไทย

สังคม
6 พ.ค. 62
07:15
43,179
Logo Thai PBS
สำรวจ "ถ้ำหลวง" ครั้งแรกในไทย
ผู้เชี่ยวชาญถ้ำชาวต่างชาติ-นักสำรวจธรณี ร่วมทำแผนที่ถ้ำหลวงฉบับทางการ พร้อมศึกษาจุดน้ำเข้า-ช่องลม-สัตว์ถ้ำ ด้านกรมอุทยานฯ ดึงทีม “เนชันแนล จีโอกราฟี่” ยิงเลเซอร์เสริมระบบข้อมูลถ้ำ ชูรักษาสิ่งแวดล้อม-ระบบนิเวศ นำการท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 4 พ.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มนักธรณีวิทยา นำโดยนายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำ และหนึ่งในคณะกรรมการบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติ พร้อมเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรธรณี รวม 6 คน เข้าสำรวจพื้นที่ด้านในตัวถ้ำหลวง ภายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยมีทีมข่าวไทยพีบีเอสเข้าร่วมติดตามการปฏิบัติงานของทีมสำรวจ


นอกจากทีมนักสำรวจแล้ว ยังมีนายเวิร์นนอน อันเวิร์ธ นักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษ เข้าร่วมสำรวจด้วยในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติ รวมถึงทีมระดับนโยบายทั้งนายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายกมลไชย คชชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) และนายกวี ประสมพล หัวหน้าวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เข้าไปภายในตัวถ้ำหลวงโดยเป้าหมายการสำรวจจากปากถ้ำไปถึงบริเวณเนินนมสาว ซี่งเป็นจุดที่เจ้าหน้าที่พบกลุ่มเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีจนนำไปสู่การช่วยเหลือ 

ทำแผนที่ถ้ำหลวงฉบับทางการ

 
ทีมข่าวสังเกตพบว่าในช่วงเดือน พ.ค. แม้สภาพอากาศด้านนอกตัวถ้ำหลวงจะมีสภาพร้อนอบอ้าว เฉลี่ยประมาณ 39-40 องศาเซลเซียส แต่เมื่อเดินเข้าไปภายในตัวถ้ำหลวง สัมผัสได้ถึงความเย็นที่มีลักษณะเย็นชื้น  ซึ่งตลอดแนวเส้นทางเดินจากปากถ้ำ ยังพบหยดน้ำไหลตามเพดานถ้ำ และหินงอกหินย้อยเป็นระยะ รวมถึงเมื่อสัมผัสกับผนังถ้ำ ยังพบคราบโคลนหนาเป็นบางส่วน ส่งผลให้การเดินปีนป่ายเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากด้านในมีสภาพลาดชัน และเป็นจุดหินถล่มเดิมในบางช่วง และพบเนินทรายที่มาทับถมอยู่รวมกันในบางพื้นที่


นายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำวิทยา กล่าวว่า การเข้าสำรวจรอบนี้ เป็นการต่อยอดจากคณะกรรมการบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติ ซึ่งมีแนวทางที่จะสำรวจถ้ำด้านธรณีวิทยาและหลายศาสตร์เพื่อบริหารจัดการให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ โดยถ้ำหลวงถือว่าเป็นถ้ำนำร่องและจะขยายผลสำรวจถ้ำอีกประมาณ 20 แห่ง จากที่มีถ้ำในประเทศไทยทั้งหมดกว่า 5,000 แห่ง ซึ่งสภาพพื้นที่แต่ละแห่งนั้นมีลักษณะจุดเด่นไม่เหมือนกัน โดยการศึกษาถ้ำหลวงครั้งนี้จะนำไปสู่การจัดทำผังถ้ำที่เป็นทางการและมีความชัดเจนมากขึ้น

ศึกษาจุดน้ำเข้า-ช่องลม-สัตว์ถ้ำ

 
นายชัยพร กล่าวว่า การศึกษาเรื่องราวของถ้ำทำให้เห็นมุมมองอื่นๆ อีกหลายมิติ ทั้งด้านธรณีวิทยา การแยกตัวของแผ่นดิน ชั้นหิน การระเบิดของภูเขาไฟ โครงสร้างหินแร่ หรือ ฟอสซิล รวมถึงระดับน้ำทะเลในอดีต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตภายในถ้ำที่เราไม่เคยได้เห็น

นอกจากนี้ยังรวมถึงน้ำผิวดิน ระบบน้ำบาดาล เส้นทางการไหลของน้ำจากในถ้ำออกไปนอกถ้ำ จากนอกถ้ำเข้ามาในถ้ำ และหลักฐานด้านโบราณคดี ฯลฯ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ หากไม่ศึกษาไว้เลยก็จะทำให้ไม่ทราบที่มาที่ไปของถ้ำในแต่ละพื้นที่ แต่หากศึกษาแล้วมีการทำผังถ้ำที่ชัดเจนก็จะทำให้มีข้อมูลที่ชัดเจนได้มากขึ้น สำหรับคนที่ต้องการศึกษา หรือเมื่อเกิดเหตุก็อาจนำมาช่วยสนับสนุนด้านข้อมูลได้ 


โครงการสำรวจถ้ำหลวง มีระยะเวลา 2 ปี แต่มีข้อจำกัดตัวถ้ำที่มีปริมาณน้ำอยู่ด้านในตั้งแต่กลางปีที่แล้ว และน้ำเริ่มลดจนสามารถเข้าสำรวจได้ในช่วงนี้ และทำให้จำเป็นต้องเข้าถึงที่สำรวจให้ลึกที่สุด เนื่องจากในช่วงเดือน มิ.ย. อาจจะมีฝนตกหนักและทำให้มีน้ำไหลเข้าภายในตัวถ้ำอีก เนื่องจากถ้ำหลวงเป็นทางผ่านหลักของน้ำ และหากมีน้ำเต็มถ้ำเหมือนปีที่ผ่านมา จะต้องรอน้ำลดและเริ่มการสำรวจได้ใหม่ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา ถือว่าเป็นความท้าทายสำหรับการศึกษาด้านถ้ำวิทยา

ส่วนกรณีที่จะศึกษาเกี่ยวกับการเชื่อมโยงของถ้ำด้านในกับสภาพถ้ำด้านนอก การไหลของน้ำ จุดน้ำมุดนอกถ้ำสู่ด้านในถ้ำ สัตว์ที่อาศัยอยู่ในถ้ำ และการศึกษาข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ถ้ำ เบื้องต้นมีข้อมูลที่ไม่คาดคิดว่า แต่เดิมเข้าใจกันว่าถ้ำหลวงเป็นถ้ำหินปูนแต่เมื่อได้ศึกษาเบื้องต้น พบว่าถ้ำหลวงมีลักษณะเป็นถ้ำหินอ่อน


"ถ้ำหลวง" มีระยะทางประมาณ 10.3 กิโลเมตร แต่ระยะของการสำรวจในครั้งนี้จากปากถ้ำไปถึงบริเวณเนินนมสาว หรือ หาดพัทยา มีระยะทางประมาณ 2.2 กิโลเมตร ซึ่งการสำรวจจะใช้เวลาสำรวจเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา เพิ่มเติมอีกวัน ขณะที่วันนี้ 6 พ.ค. จะเป็นการเข้าสำรวจตัวถ้ำทรายทอง ซึ่งอยู่ภายในบริเวณขุนน้ำนางนอน โดยมีกลุ่มครูชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ร่วมทีมสำรวจด้วย เพื่อผลักดันให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมกับส่วนกลาง ในการรักษาคุณค่าของถ้ำให้มีความสำคัญในท้องถิ่น และทำให้คนภายนอกที่เดินทางมาได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของถ้ำอย่างเป็นกระบวนการด้วย    

อนุรักษ์ระบบนิเวศนำท่องเที่ยว

 
นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า การสำรวจของทีมธรณีวิทยาจะช่วยนำไปสู่การค้นหาคำตอบเกี่ยวกับถ้ำที่นำไปสู่การบริหารจัดการได้อย่างมีศักยภาพ ซึ่งในอนาคตตัวถ้ำหลวงจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการกู้ภัยระดับโลก ในขณะที่งานการเรียนรู้ด้านถ้ำต้องทำควบคู่กันไปด้วย ซึ่งกรมอุทยานฯ มีแนวคิดที่จะสนับสนุนการฝึกอบรมบุคคล รวมถึงดึงกลุ่มคนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาถ้ำ ซึ่งในแต่ละพื้นที่ไม่ใช่แค่ถ้ำหลวง จ.เชียงราย แต่ยังรวมถึงถ้ำอื่นๆ ในประเทศไทยจำนวนมาก ที่ขณะนี้ไม่ได้บริหารจัดการอย่างเต็มศักยภาพ

อย่างไรก็ตาม ต้องรอการสำรวจเพื่อประเมินเกี่ยวกับความปลอดภัยก่อนจะเปิดให้เข้าไปท่องเที่ยวด้านใน เห็นได้ว่า สภาพพื้นที่ไม่เหมาะต่อการเปิดท่องเที่ยวตลอดตัวถ้ำ แต่จะมีเปิดบางจุดที่ให้เข้าได้เท่านั้น

ยิงเลเซอร์สแกนถ้ำ 

 
นายจงคล้าย กล่าวว่า ในบริเวณพื้นที่วนอุทยานถ้ำหลวงมีโซนที่เรียกว่า ขุนน้ำนางนอน ซึ่งมีถ้ำทรายทองอยู่มีความเหมาะสมที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ เพราะมีความสวยงามของหินงอกหินย้อยจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ต้องเสนอเรื่องไปที่กระทรวงหลังจากทีมสำรวจศึกษาเสร็จ ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้ระยะเวลาอีกสักระยะ


สำหรับการสำรวจถ้ำหลวงรอบนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากทีม “เนชันแนล จีโอกราฟฟิก” (National Geographic) ที่เข้ามาผลิตสารคดี แต่จะช่วยสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับถ้ำหลวงด้วย เพราะเขานำเทคโนโลยีเครื่องเลเซอร์ มาสแกนแบบ 3 มิติ ด้วย

การส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวเป็นเรื่องสำคัญ แต่การรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ สำคัญกว่าการท่องเที่ยว

 

 

คลิปสัมภาษณ์ : นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง