วันนี้ (28 เม.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จังหวัดภูเก็ต รายงานว่า จากการติดตามสถานการณ์อุณหภูมิผิวหน้าน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเว็บไซต์ภัยพิบัติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ของอุณหภูมิผิวหน้าน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยค่าอุณหภูมิมากกว่า 30 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา จึงได้ทำการสำรวจการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำทะเล และสถานภาพปะการังบริเวณหาดในยาง อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต
จากการสำรวจพบว่าอุณหภูมิน้ำทะเลที่ระดับความลึก 1-4 เมตร มีอุณหภูมิ 31 องศาเซล เซียส ปะการังในพื้นที่ประมาณร้อยละ 10 เกิดการฟอกขาว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโคโลนีของปะการังเขากวาง และปะการังดอกเห็ด นอกจากนี้ยังพบว่าบางโคโลนีของปะการังโขด เริ่มมีสีซีดจาง แต่ยังไม่พบการตายของปะการังจากการฟอกขาว
ทั้งนี้หากอุณหภูมิยังคงสูงอยู่อย่างต่อเนื่อง จะทำให้สถานการณ์ปะการังฟอกขาวรุนแรงขึ้น และส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของแนวปะการังทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
ภาพ:ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 ภูเก็ต
จุฬาฯห่วงวิกฤตปะการังฟอกขาว ในฤดูร้อน
"ไทยพีบีเอสออนไลน์" สัมภาษณ์ รศ.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชวิทยาศาสตร์ ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวทยาลัย ระบุว่า แนวโน้มปะการังทะเลไทยเกิดปัญหาเสื่อมโทรมทั้งจากการท่องเที่ยว การประมง แต่ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาปะการังเผชิญปัญหาภาวะโลกร้อน จากระดับน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงมากขึ้น จะเห็นว่าช่วงฤดูร้อน ปะการังฟอกขาวมากขึ้น ซึ่งทิศทางการเสื่อมโทรมของปะการังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เราไม่ต้องให้เกิดปรากฎการณ์แบบการเสื่อมโทรมแบบก้าวกระโดด
ภาพ:ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 ภูเก็ต
ปีนี้เป็นห่วงเรื่องสภาพอากาศร้อนมาก และถ้าฝนตกน้อยหรือไม่ตก น่าเป็นห่วงปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวอาจมีมากขึ้น
นักวิชาการ ระบุว่า ปะการังจะฟอกขาวได้ก็ต่อเมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงเพิ่มขึ้น ซึ่งน้ำทะเลอ่าวไทย อุณหภูมิน้ำทะเลจะอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส ไม่เกิน 31 องศาเซลเซียส แต่ถ้าอุณภูมิสูงมากกว่า 31-32 องศาเซลเซียสจะมีโอกาสเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวได้
ทะเลยิ่งร้อนปะการังยิ่งเสี่ยงฟอกขาว
ส่วนทะเลอันดามันมีอุณหภูมิน้ำเฉลี่ยอยู่ที่ 28-29 องศาเซลเซียล ถ้าอุณหภูมิมากว่า 30 องศาเซลเซียส จะทำให้เกิดปะการังฟอกขาวได้ ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิทะเลแต่ละที่ ซึ่งการวัดที่ แสมสาร สัตหีบ จ.ชลบุรี ในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 30-31 องศาเซลเซียล ถือว่าอยู่ในอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงที่จะเกิดปะการังฟอกขาว
ปกติจะเป็นปะการังเขากวาง หรือปะการังโต๊ะที่มีลักษณะอ่อนไหวต่อการฟอกขาวมากว่าปะการังชนิดอื่นๆ แม้จะพบว่าปะการังพยายามปรับตัวให้อยู่ได้ตามธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป แต่กลุ่มนี้ปรับตัวได้น้อย เพื่อให้ทนต่อสภาพที่เปลี่ยนแปลง
ส่วนปะการังกิ่ง ปะการังโขด พบมากในทะเลไทย ซึ่งต้องเฝ้าติดตามดูสถานการณ์ที่เปลี่ยน แปลง ในอนาคตหาเกิดเหตุสุดวิสัยจริงๆ กับปะการังที่ทำให้ไม่สามารถขยายพันธ์ุได้การ นำสเปิร์มมาแช่เยือกแข็งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทางทีมวิจัย จุฬาฯ ดำเนินการในขณะนี้ เพื่อรองรับการสูญพันธ์ุหรือ การลดลงของปะการังบางสายพันธุ์ การผสมเทียมจะทำให้ปะการังมีโอกาสรอดได้ 40-50% นับว่าเป็นอัตราสูงเมื่อเทียบกับธรรมชาติที่มีโอกาสรอดเพียง 0.001 เท่านั้น
สำหรับปัจจุบัน มีปะการังที่พบในประเทศไทย กว่า 70 สายพันธ์ุ มากกว่า 200 ชนิด ทั้งในอ่าวไทย และอันดามัน แต่ภัยคุกคามที่เกิดจากมนุษย์ และโลกร้อน ส่งผลให้ปะการังตาย หรือเกิดปรากฎการณ์ฟอกขาวในแต่ละปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนแบบนี้ และทำให้บางสายพันธ์ุเสี่ยงสูญพันธ์ุ
ภาพ:ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 ภูเก็ต