ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลือกตั้ง 2562 : ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

การเมือง
26 เม.ย. 62
12:42
10,045
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง 2562 : ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
มติผู้ตรวจการแผ่นดินเอกฉันท์ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สูตรการคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เหตุพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 ขัดกับ รัฐธรรมนูญมาตรา 91 ยกคำร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

วันนี้ (26 เม.ย.62) นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงหลังการประชุมของคณะผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาว่า การคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่ และการพิจารณาขอให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะว่า

ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติเอกฉันท์ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเนื่องจากที่ประชุมเห็นว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 อาจขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 เนื่องจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 มี 8 อนุมาตรา ขณะที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 91 มี 5 อนุมาตรา ซึ่งที่เพิ่มมา 3 อนุมาตรา โดยเฉพาะอนุมาตราที่ 4 6 และ 7 เป็นการขยายข้อความนอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญมาตรา 91 ระบุไว้ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า ข้อความที่เพิ่มเติมมานั้นจะทำให้การคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 91 อาจจะมีปัญหาจึงเท่ากับว่าพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 อาจขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 จึงมีมติให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยเร็ว คาดว่าจะส่งให้ศาลได้ภายในวันนี้ หรือ อย่างช้าภายในวันจันทร์หน้า 

ขณะที่กรณีคำร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ โดยพิจารณาในหลายประเด็น คือ กรณีการไม่นับบัตรเลือกตั้งของประชาชนที่ลงคะแนนที่นิวซีแลนด์โดยมีการวินิจฉัยโดย กกต.แล้วว่าไม่ให้นำบัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์มานับคะแนน เนื่องจากมีการนับคะแนนและประกาศผลไปแล้ว 

กรณีการไม่ทราบผลการเลือกตั้งในทางปฏิบัติของ กกต.ที่หน่วยเลือกตั้งได้มีการติดประกาศแล้ว ประชาชนสามารถขอดูและติดตามได้ซึ่งไม่ใช่การปิดบังแต่ประการใด ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงยกคำร้อง เนื่องจากกรณีต่างๆของ กกต.มีเหตุผลในการดำเนินการและทางผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าไม่มีปัญหาจึงยุติการพิจารณา

ขณะที่คำร้องของนายเรืองไกร กรณีรัฐธรรมนูญ 91 วรรค 3 ขัดกับมาตรารัฐธรรมนูญมาตรา 91 วรรค 4 และ รัฐธรรมนูญมาตรา 91 วรรค 4 ขัดกับ มาตรา 83 วงเล็บ 2 โดยร้องเรียนว่ารัฐธรรมนูญขัดกันเอง ซึ่งอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาเพียงว่าพระราชบัญญัติ หรือ พระราชกฤษฎีกาขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่กรณีการขัดกันของรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจวินิจฉัยจึงไม่รับไว้พิจารณา

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง