วานนี้ (16 เม.ย.2562) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติสุขภาพจิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 โดยระบุว่า พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 28 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 35ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับ การคุ้มครองจากการเผยแพร่ข้อมูลใดๆ ในสื่อทุกประเภทที่อาจนำข้อมูลส่วนบุคคล ไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ อันจะทำให้เกิดความรังเกียจเดียดฉันท์ หรือความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติ คุณ ของผู้ป่วยและครอบครัว และเพื่อให้สามารถนำผู้ที่มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นผู้ป่วยไปรับการบำบัดรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้
ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
สาระสำคัญของกฎหมายฉบับใหม่นี้ คือ มีการปรับองค์ประกอบคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ เช่น เพิ่มปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นกรรมการ
แก้ไขให้หัวหน้าสถานบำบัดรักษาแต่งตั้งคณะกรรมการสถานบำบัดรักษา เดิมกำหนดให้อธิบดีกรมสุขภาพเป็นผู้แต่งตั้ง ทั้งนี้ คณะกรรมการสถานบำบัดรักษามีอำนาจให้ความยินยอมในการบำบัดรักษาทางกายแทน หากเห็นว่าผู้ป่วยขาดความสามารถในการตัดสินใจให้ความยินยอมรับการบำบัดรักษาทางกาย และไม่มีผู้ให้ความยินยอม
การเพิ่มมาตรา 16/1 การเผยแพร่ข้อมูลใดๆ ทางสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่ออื่นใดต้องไม่ทำให้เกิดความรังเกียจเดียดฉันท์ หรือความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของผู้ป่วยและครอบครัว การเผยแพร่ข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และมาตรา 16/2 ในกรณีที่อธิบดีเห็นว่าการเผยแพร่ข้อมูลใดๆ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 16/1 ให้อธิบดีมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้เผยแพร่ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1.ให้แก้ไขข้อความหรือวิธีการในการเผยแพร่ข้อมูล 2.ห้ามการใช้ข้อความบางอย่างที่ปรากฏในการเผยแพร่ข้อมูล 3.ระงับการเผยแพร่ข้อมูล หรือห้ามใช้วิธีการนั้นในการเผยแพร่ข้อมูล 4.ให้เผยแพร่ข้อมูลเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดของผู้อื่นที่อาจเกิดขึ้น การออกคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด หากไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ