วันนี้ (12 เม.ย.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตาม พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 ซึ่งเป็นวิธีที่สำนักงาน กกต.คำนวณ และสอดคล้องกับวิธีที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สามารถจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อพึงมีได้ครบ 150 คน แต่อาจไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (4) ที่กำหนดหลักการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จะเกินกว่าที่พึงมีไม่ได้โดยการจัดสรรในจำนวนที่ต่ำกว่า 0 อาจถือได้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
วิธีการคำนวณตามาตรา 128 ของกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส.จำเป็นต้องหาข้อยุติให้ชัดเจน แม้ว่าวิธีการคำนวณตามมาตรา 128 ของกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส.จะจัดสรรได้ครบ 150 คน แต่อาจติดขัดต่อประเด็นว่าการจัดสรรนี้ จะทำให้พรรคการเมืองบางพรรคได้ ส.ส.เกินพึงมีหรือไม่
ทั้งนี้นายอิทธิพร ยืนยันว่า การส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นวิธีดำเนินการเหมาะสมและจะไม่ส่งผลกระทบต่อการประกาศรับรอง ส.ส. ร้อยละ 95 ตามที่กฎหมายกำหนด แต่จะไม่ขอก้าวล่วงอำนาจวินิจฉัยของศาลว่าจะวินิจฉัยแล้วเสร็จก่อนวันที่ 9 พ.ค.นี้ หรือไม่ ตามกรอบกำหนดวันประกาศรับรอง ส.ส.
ประธาน กกต.ระบุถึงกรณีที่สำนักงาน กกต.ออกมาเปิดเผยว่า จะมีอย่างน้อย 25 พรรคการเมืองได้รับการจัดสรรว่าเป็นวิธีการคำนวณเบื้องต้น ตามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นวิธีที่กรรมการร่างรับธรรมนูญ (กรธ.) เสนอไว้และมากำหนดเป็นมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญและมาตรา 128 ของพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ซึ่งในมาตรา 91 วรรค 3 กำหนดว่าหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณคิดอัตราส่วนให้เป็นไปตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.และการคำนวณของสำนักงานก่อนหน้านี้เป็นการคำนวณจากคะแนนเบื้องต้นที่มีอยู่ของแต่ละพรรคการเมืองไม่ใช่คะแนนสุดท้าย ทั้งนี้นอกจากวิธีการที่สำนักงานคำนวณมา รวมถึงวิธีการอื่นก็อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่
นายอิทธิพร กล่าวด้วยว่า หากคำนวณตามวิธีการของ กรธ.ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 128 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ซึ่งจะทำให้จัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ครบ 150 คน เพราะนำเศษทศนิยมมาคิด ทั้งนี้ทราบมาว่าในการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของ กรธ.นั้นได้วางหลักคิดคำนวณไว้ ส.ส.บัญชีรายชื่อไว้ก่อน และเมื่อหารือกันแล้วเห็นพ้องกันว่า หลักคิดคำนวณดังกล่าวเป็นวิธีการคำนวณ ส.ส.พึงมี จึงนำไปเขียนให้เป็นมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นวิธีการคำนวณที่ กรธ.คุยกันจึงเป็นที่มาของมาตรา 91 ไม่ใช่มีการบัญญัติมาตรา 91 ก่อนและค่อยหาวิธีคำนวณโดยในการร่างมาตรา 91 นั้น เหตุที่วิธีการคำนวณมีความยาว กรธ.จึงนำไปใส่ไว้ในกฎหมายลูกแทน
ยังมีข้อถกเถียงกันถึงเลขทศนิยม ที่น้อยกว่า 1 เช่น 0.8 จะถือว่าเกินกว่าจำนวนส.ส.ที่พึงมีหรือไม่ เพราะศูนย์อยู่ข้างหน้า ผู้รู้คณิตศาสตร์บอกว่าเลขศูนย์ก็เป็นเลขที่นำมาคำนวณได้ แล้วอยู่ ๆ จะไปตัดทิ้ง ทั้งนี้การคำนวณมาตรา 91 ในครั้งนั้นไม่มีใครคิดว่าจะมีพรรคใดได้จำนวน ส.ส. มากกว่าจำนวน ส.ส.พึงมี ซึ่งวิธีการนี้ก็มีวิธีติดไว้ข้างฝานานแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุใดถึงไม่สามารถคำนวณตามเจตนารมณ์ได้อย่างเดียว ประธานกกต. ระบุว่า เมื่อนำ 2 มาตรามาพิจารณา ซึ่งความจริงแล้ว มาตรา 128 ของ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มีที่มาจากมาตรา 91 แห่งรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อมาตรา 91 อนุ 4 ตัวอักษรเขียนไว้เช่นนี้ ปัญหาเกิดขึ้นว่าจะต้องยึดสิ่งใด ซึ่ง กกต.คงต้องถือตัวอักษรที่ระบุในกฎหมาย ส่วนการตีความตามเจตนารมณ์เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณา ดังนั้นเมื่อตัวอักษรเขียนแบบนี้คงถึงทางตันที่ไม่สามารถตัดสินในเรื่องนี้เองได้จึงต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยวินิฉัย เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับอำนาจ และหน้าที่ ซึ่งการที่กกต.จะประกาศผลนั้นจะต้องมีความมั่นใจในเรื่องนี้ว่าสิ่งที่เราจะดำเนินการขัดหรือไม่