จากบทที่เขียนไว้เพื่อปราม แต่เมื่อเล่นจริง หลายคนลงความเห็นว่า อาจเป็นชนวนของความขัดแย้งไปแล้ว เมื่อ "บิ๊กแดง" พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ออกมาเรียกร้องให้หยุดใช้วาทกรรมแบ่งแยก แต่กลับโยนวาทกรรม อย่าดัดจริต-คิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ท่าทีที่แข็งกร้าว น้ำเสียงที่ดุดัน ท่ามกลางสถานการณ์การเมือง ที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้โดยทันที ส่อเค้าให้คอการเมืองหลายฝ่ายชี้ว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก หนึ่งในผู้คุมอำนาจหลัก ออกมาแสดงจุดยืนที่จะเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และเดินหน้าพัฒนากองทัพ ไม่ใช่แค่ปรามฝ่ายตรงข้าม แต่กำลังสะท้อนภาพการเป็นชนวนความขัดแย้งออกมาด้วย
ข้อสังเกตหนึ่ง ที่ต้องยอมรับ คือภาพสะท้อนของ พล.อ.อภิรัชต์ ที่ชัดเจนในความจงรักภักดีต่อสถาบัน และจุดยืนที่มีต่อกองทัพ และเมื่อครั้งที่เปิดตัวรับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อภิรัชต์ ก็ประกาศชัดเหตุยึดอำนาจรัฐประหาร ไม่ได้สืบทอดกันผ่านสายเลือด ก่อนลั่นวาจาถึงฝ่ายการเมือง "อย่าล้ำเส้น" แล้วก็เปิดเพลงหนักแผ่นดิน ส่งสัญญาณไล่หลังเพื่อย้ำเตือนถึงความจริงจังออกมา
จุดที่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ เชื่อได้ว่า ภาพแห่งความขัดแย้งกำลังจะกลับมา คือถ้อยแถลงที่อ้างอิงถึงฝ่ายการเมืองสร้างวาทกรรมแบ่งแยก-แบ่งฝ่าย ด้วยอ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แล้วผลักฝ่ายตรงข้ามเป็นฝ่ายเผด็จการประชาธิปไตย ซึ่งก็เป็นข้อเท็จจริงในสถานการณ์ที่หลายฝ่ายก็น่าจะจับต้องได้ ไม่ต่างจาก พล.อ.อภิรัชต์ หากแต่อีกข้อสังเกตหนึ่งก็ยากจะปฏิเสธ
ด้วย พล.อ.อภิรัชต์ ก็คือ ภาพสะท้อนของอำนาจในกองทัพ หรือใน คสช. หรือแม้แต่นายทหารที่เชื่อมโยงถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมองได้ถึงความสัมพันธ์และความเกี่ยวพันต่อกัน จนเป็นเหตุให้เกิดคำถามถึงความเหมาะสม และเจตนาที่มากกว่าภาพสะท้อนหลัก คือการเกื้อหนุนให้อีกฝ่าย เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรี ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ ด้วยเหตุนี้ จึงมีปฏิกริยาโต้กลับ
นับแต่วันประกาศจุดยืนออกมา แทบทุกองคาพยพ ที่อยู่ภายใต้ปีกของผู้นำกองทัพบกคนนี้ ก็ขยับตามไปด้วย โดยเฉพาะผลที่สืบเนื่องจากถ้อยแถลงที่พาดพิงถึง "นักเรียนนอกหรือนักเรียนทุน" เรียนรู้ประชาธิปไตยมาแล้ว ควรยึดโยงและประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่สอดแทรกประเพณีและขนบธรรมเนียมของไทยไปด้วย ถ้าคิดในแง่ลบ นี่อาจเป็นสัญญาณของการเดินหน้าฟ้องร้องนักการเมืองรุ่นใหม่ อย่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจและนายปิยบุตร แสงกนกกุล
คสช.เดินหน้าฟ้อง "ธนาธร" หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พร้อมกับหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหา ม.116 ปลุกปั่น-ยุยง และข่าววงในก็ชี้ว่า "ปิยบุตร" ในฐานะเลขาธิการพรรค อาจถูกฟ้องด้วยข้อกล่าวหา ม.112 ด้วยเหตุที่ต่างกรรมต่างวาระออกไป ทั้งนี้ มุมหนึ่ง คือข้อเท็จจริงในเชิงกฎหมายที่ต้องปฏิบัติและดำเนินการ แต่อีกมุมหนึ่งอาจเป็นการรับลูก-เดินหน้าสร้างเกราะป้องกัน ตามที่ พล.อ.อภิรัชต์ ขีดเส้นไว้
เมื่อมองในมุมด้านบวกได้ ก็ย่อมต้องถูกมองในมุมด้านลบได้เหมือนกัน และเมื่อต้องเดินหน้าในทางกฎหมาย เพื่อความถูกต้องและเหมาะสมได้ ก็ต้องตอบโจทย์ข้อครหาในทางการเมืองได้ด้วย ว่าบริบทที่เกิดขึ้นไม่ได้หวังผลเกินเลยอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่