ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลือกตั้ง 2562 : อดีตโฆษก กรธ.โยน กกต.ตัดสินวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

การเมือง
4 เม.ย. 62
13:57
466
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง 2562 : อดีตโฆษก กรธ.โยน กกต.ตัดสินวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
นายอุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษก กรธ.ชี้แจงระบบคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตีความได้ 2 แบบ โยน กกต.ตัดสิน คิดคำนวณจากทุกพรรค หรือเลือกเฉพาะพรรคที่ได้ ส.ส.เขต ยืนยันเจตนารมณ์ กรธ.ทุกคะแนนไม่ทิ้งน้ำ แนะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ หากไม่ได้ข้อยุติ

วันนี้ (4 เม.ย.2562) นายอุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยถึงปัญหาการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กรณีโอเวอร์แฮงก์ว่า กฎหมายที่มีอยู่ได้พยายามอธิบายว่าจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งมันต้องคิดอัตราส่วนโอเวอร์แฮงก์ออกมา แต่ต้องดูว่าจะคิดเฉพาะพรรคที่ได้ ส.ส.เขตไปแล้วเท่านั้นหรือไม่ ถ้าคิดแบบนี้มันก็จะมีพรรคอยู่แค่จำนวนหนึ่งเท่านั้น แต่ก็คิดได้ หรือจะคิดแบบนับคะแนนจากทุกพรรค มีวิธีคิดอยู่แค่ 2 วิธี แต่ของ กรธ.ยืนยันว่าต้องคิดคะแนนจากทุกพรรค ไม่ได้คิดเฉพาะพรรคที่ได้แต่ ส.ส.เขต ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ว่าทุกคะแนนมีความหมายไม่ทิ้งน้ำ แต่พรรคใดจะได้หรือไม่ได้ที่นั่ง ขึ้นอยู่กับอัตราส่วนของพรรค ซึ่ง กกต.จะต้องตัดสินใจ และ กกต.ต้องตีความข้อกฎหมายว่าพรรคที่มีจำนวน ส.ส.น้อยกว่าค่าเฉลี่ย ส.ส.พึงมีของพรรค หมายถึงพรรคที่ได้ ส.ส.เขตไปแล้วหรือไม่ หรือหมายถึงตัวเลขที่พรรคควรจะได้ ซึ่งตามภาษากฎหมายสามารถถกเถียงกันได้ ส่วนตัวเข้าใจ กกต. แต่ กกต.มาพิจารณาเรื่องนี้ช้าไป ทำให้เกิดความวุ่นวาย แต่ยืนยันว่าในส่วนของ กรธ.คิดตรงกันหมด เพราะเป็นเรื่องที่เคยถกเถียงกันมาแล้ว

ดังนั้น ต้องใช้คะแนนจากทุกพรรคมาเฉลี่ยแก้ปัญหาโอเวอร์แฮงก์ ไม่เฉพาะพรรคที่ได้ ส.ส.เขตเท่านั้น ซึ่ง กรธ.มีเอกสารเจตนารมณ์ยืนยันชัดเจน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของ กกต.มาร่วมอยู่ด้วย แต่ทั้งหมดอยู่ที่คนใช้กฎหมายที่เป็นผู้ถือเจตนารมณ์ ถ้ามีข้อโต้แย้งก็อาจต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ กกต.ไม่ต้องยึดตามความเห็นของ กรธ. ตอนนี้อยู่ที่ว่า กกต.คิดอย่างไรเท่านั้น ต้องเป็นผู้ยืนยันว่าสูตรไหนถูกต้อง เพราะไม่มีว่าเลือกสูตรไหนก็ได้ ต้องเลือกสูตรเดียว

นายอุดม กล่าววว่า ระบบสัดส่วนที่เป็นบัตรเดียว ต้องคิดว่าจะใช้ตัวเลขที่เท่าไหร่เป็นตัวตั้ง เดิมแน่นอนว่าค่าเฉลี่ยเป็นตัวตั้งแรก แต่เมื่อค่าเฉลี่ยนี้ไม่สามารถที่จะคิดทำให้เกิดเป็นสัดส่วนใน 150 ได้ ก็จะเป็นต้องหาค่าเฉลี่ยถัดมา ก็ต้องมาคิดอีกว่าตกลงเอาจากทุกพรรคมาคิดค่าเฉลี่ยหรือเอาเฉพาะพรรคที่ได้ ส.ส.เขตแล้วมาคิด อันนี้คือโจทย์ที่ กกต.จะต้องตัดสิน ระบบที่ กรธ.คิด ถือว่าทุกพรรคเท่าเทียมกันหมด ใครได้มากได้น้อยในท้ายที่สุดก็ต้องมาเฉลี่ยในสัดส่วน 150 ว่าพรรคใดจะได้ที่นั่ง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง