ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กังขา! หลักฐานเชื่อมโยงครอบครองซาก "เสือดำ" หาย

สิ่งแวดล้อม
20 มี.ค. 62
21:27
992
Logo Thai PBS
กังขา! หลักฐานเชื่อมโยงครอบครองซาก "เสือดำ" หาย
ดร.กณิตา อุ่ยถาวร ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า เล่าย้อนกระบวนการตรวจสอบวัตถุพยานคดีเสือดำ ดีเอ็นเอชี้ชัดเสือดำถูกล่าในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่

ภายหลังมีคำพิพากษาของศาลจังหวัดทองผาภูมิ สั่งจำคุกนายเปรมชัย กรรณสูต จำเลยคดีล่าสัตว์ป่า เป็นเวลา 16 เดือน และยกฟ้องข้อหาร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) แต่ก่อนหน้านี้มีการตรวจวัตถุพยานของศูนย์ปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พบว่ามีซากเสือดำและดีเอ็นเอของเสือดำที่จุดเกิดเหตุในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

วันนี้ (20 มี.ค.2562) "ไทยพีบีเอสออนไลน์" สัมภาษณ์ ดร.กณิตา อุ่ยถาวร ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ซึ่งได้รับหน้าที่ไขคดี "เสือดำ" จากวัตถุพยานที่ได้รับมาทั้งหมด 50 ชิ้นและถือเป็นหลักฐานสำคัญของคดี

ดร.กณิตา เปิดเผยว่า ตัวอย่างวัตถุพยานในคดีเสือดำได้รับมาทั้งหมด 2 ส่วน ส่วนหนึ่งจากนายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จำนวน 18 รายการ และอีกส่วนหนึ่งจากตำรวจ สภ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี จำนวน 32 รายการ ซึ่งผ่านการตรวจดีเอ็นเอของมนุษย์จากกองพิสูจน์หลักฐานเรียบร้อยแล้ว และต้องทำการตรวจหาดีเอ็นเอของสัตว์เพื่อเปรียบเทียบ

 

การตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ ต้องประมวลภาพรวมของตัวอย่างทั้งหมด ทั้งชิ้นเนื้อของเสือดำในซุปที่คาดว่าเป็นหางเสือ ซากไก่ฟ้า ซากชิ้นเนื้อที่คาดว่าเป็นเนื้อเก้ง รวมถึงกระดูกท่อนขาหลังและชิ้นส่วนลำไส้ ที่ทีมพญาเสือส่งมาเพิ่มเติม แต่ตัวอย่างที่คิดว่ามีความสำคัญที่สุดคือ "หนังเสือดำ" ทั้งผืน ที่พบรอยกระสุนปืน โดยการตรวจดีเอ็นเอจะเป็นตัวเชื่อมโยงว่าวัตถุพยานตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับเสือดำ เป็นเสือดำตัวเดียวกันกับหนังเสือดำที่มีรอยกระสุนปืนและพบในจุดเกิดเหตุ

ส่วนวัตถุในการทำครัวอย่างมีดและเขียงที่พบคราบเลือด ก็มีความสำคัญ เพราะการตรวจดีเอ็นเอในมีด ถ้าพบว่ามีความสัมพันธ์กัน จะบอกได้ถึงพฤติกรรมที่ทำในพื้นที่ เช่น การชำแหละเพื่อนำมาประกอบอาหาร ส่วนหลักฐานอื่นที่สนับสนุน เช่น คราบเลือดบนใบไม้ หรือคราบเลือดบนพื้นดิน เป็นหลักฐานที่ผูกมัดได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด เกิดในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ไม่ใช่การนำชิ้นส่วนสัตว์ป่าจากที่อื่นเข้ามาในพื้นที่ตามที่กล่าวอ้าง ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการหาวัตถุพยานและนำภาพมาต่อกัน แล้วสันนิษฐานว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในพื้นที่

พอดูทั้งหมดแล้วมันจะเป็นภาพจิ๊กซอว์ที่มาประกอบกันว่าเสือดำอยู่ตรงไหนบ้าง และเขาทำอะไรกับเสือดำบ้าง

 

สำหรับ "หนังเสือดำ" สามารถชี้ได้ว่าเป็นหลักฐานสำคัญ เพราะมีรอยกระสุนที่ถูกสังหารถึง 6 รู ซึ่งหลักฐานชิ้นนี้เป็นตัวร้อยวัตถุพยานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชิ้นเนื้อ เลือด หรืออวัยวะภายในของเสือดำ ชี้ชัดว่าเป็นของเสือดำที่ตายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

ภายหลังมีคำพิพากษา ดร.กณิตา ระบุว่า เคารพการตัดสินของศาล ขณะเดียวกันเป้าหมายหลักในการทำคดีด้านนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า สิ่งแรกต้องรู้ชนิดสัตว์และดูว่าผิดกฎหมายหรือไม่ แต่คำตอบตรงนี้ก็ยังไม่เพียงพอ จึงคิดว่าควรเพิ่มรายละเอียดและขยายความให้มากขึ้น พัฒนาองค์ความรู้ เทคนิคและความละเอียดการทำคดี

แต่ก็ยังมีแง่ดี เพราะเป็นคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่าที่สังคมให้ความสนใจอย่างมากและถูกยกระดับขึ้นมา ถือว่าเป็นทั้งบทเรียนและประสบการณ์การทำคดีด้านสัตว์ป่า รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายด้านสัตว์ป่าให้เข้มงวดกว่าเดิม

เคสนี้สังคมให้ความสนใจมาก ยิ่งเพิ่มความกดดัน เราต้องยิ่งเพิ่มความระมัดระวังและรอบคอบ ซึ่งผลที่ออกไปเป็นไปตามหลักวิชาการพื้นฐานของงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นจึงมั่นใจ

คดีนี้ถือเป็นตัวอย่างแรกๆ ที่เราต้องเรียนรู้ไปด้วยกันว่าคดีด้านสัตว์ป่าจะต้องมีการจัดระบบป้องกันวัตถุพยาน เก็บตัวอย่างวัตถุพยาน และลำดับของการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลน่าเชื่อถือมากที่สุด และสามารถสร้างความยุติธรรมให้กับสัตว์ได้เทียบเท่ามนุษย์

เมื่อถามว่า เสือดำจะตายฟรีหรือไม่? ดร.กณิตา ตอบสั้นๆ ว่า วันนี้นายเปรมชัยได้ถูกลงโทษแล้ว และยังถูกสังคมกดดันอย่างหนัก จึงไม่คิดว่าเสือดำตายฟรี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง