ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Insight : ไม่การันตี –ไม่มีปฏิวัติ

การเมือง
20 มี.ค. 62
17:20
404
Logo Thai PBS
Insight : ไม่การันตี –ไม่มีปฏิวัติ
วิเคราะห์ตัวแปรการเมืองเรื่องกองทัพ-นักการเมือง-มวลชน ฟันธง! ไม่ต้องปฏิวัติด้วยกองทัพ เพราะกลไกรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้จัดการรัฐบาลได้ผลชะงัด

การรัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุด คือ ปี 2549 และปี 2557 มีการรัฐประหารเกิดขึ้นควบคู่กับเหตุการณ์ทางการเมือง เป็นตัวสะท้อนความแน่นอนเสถียรภาพทางการเมืองไทย

และคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน ไม่ได้รับปากว่าจะไม่มีการปฏิวัติ แต่ระบุว่า...

หากไม่มีเหตุการณ์ทางการเมืองที่เป็นต้นเหตุของการจราจล ก็ไม่มีอะไร

ไม่แปลกใจหากคนจะหวั่นๆ ว่าจะปฏิวัติครับท่านผู้ชม

ความคิดเห็นของสังคมแบ่งเป็น 2 ขั้วใหญ่ ส่วนหนึ่งมองว่าการปฏิวัติเกิดขึ้นจาก “การเมือง” ที่ล้มเหลว การทุจริต และความขัดแย้ง ขณะที่อีกขั้วหนึ่งวิจารณ์ไปที่บทบาทของ “กองทัพ” ผู้เข้ามาแทรกแซงกลไกทางการเมือง ไม่ว่าอย่างไรบทวิเคราะห์นี้ไม่ใช่การชี้ขาดถึงต้นเหตุ แต่วิเคราะห์ฉากทัศน์หลังเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้ วิเคราะห์จาก...

1.กองทัพ

สถานะของกองทัพขณะนี้ ถือว่ามั่นคงกว่าช่วงก่อนวิกฤตการเมืองปี 2548 มาก เพราะขณะนั้นกองทัพถูกวิจารณ์ว่ามีการแทรกแซงกระบวนการแต่งตั้ง แต่ปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วง 5 ปีมานี้ ผู้นำรัฐบาลมาจากกองทัพ และกองทัพมีเอกภาพทั้งการแต่งตั้งมาก ส่วนบริหารงบประมาณ ไม่มีสัญญาณของความไม่แน่นอนหรือการแทรกแซงจากการเมือง

2. องค์กรอิสระและรัฐธรรรมนูญ

ยุครัฐบาล คสช. มีการแต่งตั้งองค์กรอิสระใหม่เกือบทั้งหมด เช่น ป.ป.ช. ชุดใหม่เกินครึ่ง (5 คนจาก9 คน) , กกต. ชุดใหม่ 7 คน , ผู้ตรวจการแผ่นดินชุดใหม่ยกชุด ฯลฯ

ยังมี “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ที่เป็นกฎหมายคุมนักการเมืองให้บริหารประเทศตามทิศทางนี้ โดยมีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง หากคณะกรรมการเห็นว่ารัฐบาลไม่ทำตามยุทธศาสตร์ฯ สามารถร้องต่อ ส.ว. (250 ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง คสช.) เพื่อส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยความผิด และหากผิดจริง ส.ว. สามารถส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. เพื่อเอาผิดทางอาญา ซึ่งหากผิดจริงก็มีโอกาสที่ นายกฯ – รมว. จะหลุดจากตำแหน่ง

หมัดเด็ดคือ 250 ส.ว. ที่มีอำนาจร่วมโหวตเลือกนายกฯ ในช่วง 5 ปีแรก เพราะเมื่อมีปัญหาเรื่องการเลือกตั้งตัว “นายกฯ” 250 ส.ว. ก็มีอำนาจในการกำหนดชะตาของนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ นอกจากนี้ยังมีอำนาจอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ เช่น ส.ว. เข้าชื่อตรวจสอบคุณสมบัตินักการเมือง เป็นต้น

3.มวลชน

เมื่อวิเคราะห์กลุ่ม นปช. ระดับแกนนำ มีความแตกแยก ส่วนใหญ่เข้าสังกัดพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ซึ่งถูกยุบไปแล้ว อีกส่วนที่นำโดย จตุพร พรหมพันธุ์ ไปตั้งพรรคใหม่ชื่อ พรรคเพื่อชาติ ขณะที่กลุ่ม “ฮาร์ดคอร์” เช่น “โกตี๋” หรือ สุรชัย แซ่ด่าน มีรายงานการเสียชีวิต เช่นเดียวกับแกนนำคนอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวในต่างประเทศ แต่ไม่มีมวลชนกลุ่มใหญ่สนับสนุนเหมือนในอดีต

ขณะที่ กปปส. ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐชัดเจน ไม่มีวี่แววว่าจะจัดตั้งมวลชนเพื่อประท้วงบนท้องถนน

ประชาชน-คนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นผลสำรวจหรือการสุ่มสัมภาษณ์ ไม่มีใครต้องการความขัดแย้ง และเบื่อหน่ายกับการความบอบช้ำทางการเมืองกว่า 10 ปี ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาประเทศ

สรุปกองทัพเข้มแข็ง กลไกตามรัฐธรรมนูญและองคาพยพรุนแรง แกนนำ นปช. แบ่งกลุ่ม-ฮาร์ดคอร์เคลื่อนไหวในต่างประเทศ ขณะที่ กปปส. หนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ดังนั้นไม่จำเป็นต้องมีการปฏิวัติด้วย “กองทัพ” อีกต่อไป ไม่จำเป็นต้องใช้กำลัง “ทหาร-รถดัง” เพื่อปฏิบัติ

ลำพังกลไกตามรัฐธรรมูญและองค์ประกอบอื่นๆ ก็เอาอยู่

เช่น ไม่พอใจนายกฯ มีเสียงส.ส. 250 คนถอดถอนได้ ส่วนกลไกตั้งนายกฯ มี 250 ส.ว. ร่วมโหวตเลือก แต่หากยังเลือกไม่ได้ยังมีกลไก “นายกฯคนนอก” ที่ไม่ได้ล็อกไว้เฉพาะในบัญชีนายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอไว้ตั้งแต่ต้น ช่วงแก้ทางตันกรณีเลือกนายกฯ หรือรัฐบาลมีสถานะหมิ่นเหม่จนบริหารประเทศไม่ได้เหมือนในอดีต

ยังมีกลไก “ตรวจการบ้าน” รัฐบาล ถ้าไม่ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คณะกรรมการฯ ยื่นเรื่องต่อ ส.ว. และส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความผิด ก็จัดการได้ทั้ง คน-พรรค และ นายกฯ –รมว.

เฉพาะตัวอย่างเล็กๆ ที่เป็นเรื่องใหญ่ก็จัดการได้แล้ว ไม่ต้องยึดอำนาจ-รัฐประหารให้ประชาชนเสียขวัญ และเสี่ยงรับเสียงวิจารณ์จากประชาคมโลก

สรุปแล้วที่บอกว่า “ไม่การันตี ไม่มีรัฐประหาร” นั้น หมายถึงการรัฐประหารด้วยกองทัพ เพราะการเมืองหลังเลือกตั้ง ปฏิวัติด้วยกลไกรัฐสภาก็เอาอยู่แล้วครับท่านผู้ชม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง