วันนี้ (18 มี.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า blind trust หรือ บลายด์ ทรัสต์ คือการที่นักการเมืองนำทรัพย์สินของตนเองไปให้นิติบุคคล หรือบริษัทจัดการทรัพย์สินทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ โดยที่นักการเมืองไม่สามารถควบคุม หรือรับรู้ข้อมูลระหว่างดำรงตำแหน่งทางการเมือง จนกว่าจะพ้นตำแหน่ง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน นอกจากนี้ บริษัทจะไม่เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดให้นักการเมืองหรือบุคคลอื่นใดได้รับทราบถึงรายละเอียดการบริหารจัดการทรัพย์สินทั้งหมด
อันที่จริงแล้ว blind trust ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศไทย โดยเมื่อปี 2552 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เคยจัดสัมมนาเรื่อง "ลงทุนเปิดเผย การเมืองโปร่งใส ผ่านกลไก Blind Trust" เพื่อส่งเสริมการมีบรรษัทภิบาลที่ดีในระบบบริหารราชการแผ่นดินผ่านกลไกตลาดทุน แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักและแพร่หลายในวงกว้าง
blind trust กลายมาเป็นที่รู้จักมากขึ้น หลังในวันนี้ (18 มี.ค.) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้ลงนามมอบหมายให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนแห่งหนึ่งเข้าไปบริหารสินทรัพย์ของตนเอง โดยไม่มีอำนาจสั่งการ และมองไม่เห็น โดยระบุว่า เพื่อต้องการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ด้วยความซื่อสัตย์และสุจริต ไม่เบียดบังเวลาราชการไปประกอบธุรกิจ และปฏิเสธการใช้ช่องว่างของบทบัญญัติแห่งกฎหมายในการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม
ด้านนางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์การจัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า ที่นายธนาธรระบุทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องที่ดีมาก และสมควรชื่นชม แต่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะนักการเมืองหลายคนเขาก็ทำ ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบ blind trust หรือ private fund ต่างก็สามารถระบุเจตจำนงในสัญญาบริการได้ทั้งหมด
นางวรวรรณ ระบุอีกว่า เราก็เคยบริหาร private fund ให้อดีตรัฐมนตรีบางท่าน ซึ่งปัจจุบันกำลังลงเลือกตั้งในยุคนี้ สัญญาจัดการ private fund ก็ไม่ต่างจากที่นายธนาธรระบุ นอกจากนี้ ยังครอบคลุมไปถึงหุ้นบริษัทนอกตลาดอีกด้วย โดยที่ในระหว่างบริหาร private funds เหล่านี้ รัฐมนตรีและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องก็มิได้เข้ามาบงการหรือยุ่งเกี่ยวอะไรเลย นายธนาธรทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพียงแต่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะมีนักการเมืองและรัฐมนตรีหลายคนเขาทำกันอยู่แล้ว ถึงจะไม่ได้ทำในรูปแบบ blind trust แต่เนื้อหามิได้ต่างกันและบางท่านก็ทำเข้มงวดกว่า
ด้าน น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุถึงกรณีเดียวกันนี้ว่า การจัดการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นเรื่องใหญ่และเรื่องสำคัญที่นักการเมืองผู้มาจากภาคธุรกิจควรใส่ใจ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่ามุ่งคอร์รัปชันเชิงนโยบาย หรือใช้ข้อมูลภายในไปซื้อหุ้นทำกำไร เรื่องนี้ รัฐธรรมนูญและกฎหมายไทยก็ให้ความสำคัญมาตลอด
น.ส.สฤณี ระบุด้วยว่า การโอนหุ้นให้คนอื่นบริหารแทนนี้ กฎหมายไทยก็เปิดช่องให้ทำได้ โดย พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี ออกตั้งแต่ พ.ศ.2543 แต่กฎหมายนี้กำหนดเฉพาะระดับรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่รวม ส.ส.และ ส.ว. และไม่ได้ระบุว่าต้องเป็น blind trust ระบุแค่หลวมๆ ว่า ให้โอนให้กองทุนส่วนบุคคลบริหารได้
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 184 ระบุว่าห้ามไม่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากภาครัฐหรือเป็นคู่สัญญากับรัฐ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม รวมทั้งไม่ขัดขวางหรือแทรกแซงการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนโดยมิชอบ
ส่วนในประเทศที่มีประชาธิปไตยขนานแท้อย่างสหรัฐอเมริกา ตามธรรมเนียมปฏิบัติของนักการเมืองแล้ว จะมีการตั้ง blind trust แต่ในกรณีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี คนที่ 20 ของสหรัฐฯ ในระหว่างที่เข้ารับตำแหน่งนั้น กลับปฏิเสธ ไม่ยอมวางแผนรับมือเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนด้วยการขายธุรกิจที่ถือครองอยู่ หรือนำธุรกิจเข้ากองทุน "blind trust"
ทั้งนี้ การที่นายทรัมป์เลือกวิธีโอนอำนาจควบคุมให้บุตรชายคนโต 2 คนแทน ซึ่งทำให้ยังทราบว่ามีทรัพย์สินอะไรบ้าง และครอบครัวยังได้กำไรจากธุรกิจเหล่านั้นอยู่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ธนาธร" ยกทรัพย์สินให้เอกชนจัดการ ลุยการเมืองโปร่งใส แยกขาดธุรกิจ