ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลือกตั้ง2562 : อนาคตใหม่ ชู "ไฮเปอร์ลูป" สร้างงาน 1.8 แสนตำแหน่ง

การเมือง
14 มี.ค. 62
17:35
1,167
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2562 : อนาคตใหม่ ชู "ไฮเปอร์ลูป" สร้างงาน 1.8 แสนตำแหน่ง
พรรคอนาคตใหม่ แถลงผลศึกษา “ไฮเปอร์ลูป” ในไทย สร้างงาน 1.8 แสนตำแหน่ง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 9.7 แสนล้านบาท พร้อมนำไทยสู่การเป็นแนวหน้าอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีโลก

วันนี้ (14 มี.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคอนาคตใหม่จัดแถลงข่าว “ไฮเปอร์ลูป : ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย” โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ อธิบายหลักวิธีคิดและวิธีการออกแบบนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ ยึดหลักการสร้างคนไทยเท่าเทียมกัน ประเทศไทยเท่าทันโลก ซึ่งที่ผ่านมาตนและพรรคแสดงออกชัดเจนเกี่ยวกับจุดยืนและนโยบายทางด้านการ “สร้างคนเท่าเทียมกัน” แต่ยังไม่ได้แสดงให้ประชาชนเห็นชัดเกี่ยวกับนโยบาย “สร้างไทยเท่าทันโลก”

 

จากเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย ถูกทิ้งห่างเรื่อยๆ 

นายธนาธร กล่าวย้อนถึงการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงยุคทศวรรษที่ 1980-1990 ประเทศไทยเคยได้รับการขนานนามว่าเป็นเสือตัวที่ห้าแห่งเอเชีย ที่จะกลายเป็นประเทศร่ำรวยต่อจากฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน แต่กลับทำไม่สำเร็จ อีกทั้งถูกทิ้งห่างไปเรื่อยๆ ในขณะที่ประเทศที่ตามหลังไทยอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย เริ่มไล่ตามทันไทยและใกล้จะแซงหน้าแล้ว

เมื่อพูดถึงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 คนส่วนใหญ่จะนึกถึงแค่ปัญหาการจัดการเศรษฐกิจมหภาค หรือการต่อสู้กับการเก็งกำไรค่าเงินบาท นั่นเป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ปัญหารากฐานของเศรษฐกิจที่อยู่ลึกกว่านั้นคือ การเติบโตที่ผ่านมาของไทยตั้งอยู่บนเป้าหมายการเป็นฐานการลงทุนให้กับกิจการต่างชาติ เนื่องจากเป็นวิธีที่ทำให้ตัวเลขส่งออกและจีดีพีสูงขึ้นภายในเวลาสั้นๆ และมีการจ้างงาน รายได้เข้าประเทศแค่เพียงผิวเผินเท่านั้น แต่ไม่เคยสนใจการพัฒนาเทคโนโลยีและทักษะความสามารถอย่างจริงจัง จนงานวิชาการหลายชิ้นเรียกการพัฒนาของไทยว่าเป็น Technologyless Industrialization หรือการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยไร้เทคโนโลยี ทำให้ในระยะยาวไทยไม่สามารถไล่ตามประเทศอื่นทัน

 

 

ชู "ไฮเปอร์ลูป" ทางเลือกใหม่พลิกอุตสาหกรรมไทย

หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า แต่ละอุตสาหกรรมมีเทคโนโลยีเฉพาะตัว ซึ่งประเทศที่มาทีหลังมีทางเลือกในการพัฒนา คือ Path-following Strategy การเดินตามผู้นำ โดยให้ผู้นำถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ทีละขั้นตอน ซึ่งไทยมักเดินตามเส้นทางนี้มาตลอด แต่เกาหลีใต้และไต้หวันประสบความสำเร็จมาแล้วจากการเดินตาม 2 ทางเลือก ได้แก่ Path-skipping Stategy อาศัยความได้เปรียบจากการมาทีหลัง ข้ามลัดขั้นตอนลองผิดลองถูกของผู้นำ และ Path-creating Strategy กล้าเลือกเส้นทางใหม่เลย ดังนั้นเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ถือเป็นหนึ่งในหลายความเป็นไปได้ที่ทำให้มุ่งสู่เส้นทางใหม่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย

อย่างไรก็ตาม พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้เสนอนโยบายให้สร้างไฮเปอร์ลูปทันที แต่จะเสนอนโยบายตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน และวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับไฮเปอร์ลูปทั้งหมด เตรียมความพร้อมในการสร้างอุตสาหกรรมไฮเปอร์ลูป หากพบว่าผลการศึกษาหรือการวิจัยพัฒนานั้นไม่สามารถทำได้จริง ยังมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีกมากมายที่ได้องค์ความรู้ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่น เทคโนโลยีไฟฟ้า อวกาศ เกษตร คมนาคม ระบบการขึ้นรูปโลหะ ระบบปรับแรงดันอากาศ แต่หากเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปประสบความสำเร็จ ไทยจะเป็นประเทศที่ขยับจากผู้ตามไปเป็นผู้นำ สามารถผลิตเพื่อใช้ในประเทศและส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ได้ และเป็นแนวหน้าของประเทศอุตสาหกรรมโลก

  

สร้างงาน 1.8 แสนตำแหน่ง

ขณะที่นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และที่ปรึกษาโนบายคมนาคมพรรคอนาคตใหม่ แนะนำว่าไฮเปอร์ลูป เป็นระบบขนส่งมวลชนรูปแบบใหม่ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาพัฒนา มีระบบการทำงานลักษณะคล้ายตู้ทรงกระบอกความยาวประมาณ 25 เมตร ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังแม่เหล็กไฟฟ้า ภายในท่อที่มีแรงกดอากาศต่ำใกล้เคียงสูญญากาศ เพื่อลดแรงเสียดทานจากปัจจัยต่างๆ โดยหวังว่าในอนาคตจะสามารถเดินทางได้ด้วยความเร็วถึง 1,100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ใช้พลังงานและปล่อยมลพิษน้อยกว่าการเดินทางแบบอื่นๆ

ส่วนรายละเอียดผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนและประโยชน์ที่จะได้รับจากไฮเปอร์ลูปในประเทศไทย ต้นแบบการศึกษาเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ และกรุงเทพ-ภูเก็ต พบว่าในอนาคตมีความเป็นไปได้สูง เพราะอาจมีต้นทุนการก่อสร้างที่ต่ำกว่ารถไฟความเร็วสูง และได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไม่น้อยไปกว่ากัน คาดว่าอยู่ที่ 9.7 แสนล้านบาท สามารถสร้างงานในประเทศได้ถึง 1.8 แสนตำแหน่งงาน และไฮเปอร์ลูปมีความปลอดภัยและความเสถียร โดยเฉพาะความสะดวกรวดเร็วที่ถือว่าดีที่สุดเมือเปรียบเทียบกับการเดินทางแบบอื่นๆ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง