ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไขข้อข้องใจเหตุใดช้างป่าทำร้ายคน?

สิ่งแวดล้อม
14 มี.ค. 62
17:24
2,036
Logo Thai PBS
ไขข้อข้องใจเหตุใดช้างป่าทำร้ายคน?
หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กรมอุทยานฯ บอกถึงสาเหตุที่ทำให้ช้างป่ามีปฏิกิริยาหรือพฤติกรรมตอบกลับ เมื่อเกิดการเผชิญหน้ากับคน เผยแนวโน้มคน-ช้างเจ็บจากความขัดแย้งใน 6 พื้นที่ป่า

เหตุการณ์ "ช้างป่าทำร้ายคน" มักปรากฎเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ที่มีช้างป่ากลุ่มใหญ่ออกหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทำให้คนกับช้างต้องเผชิญหน้ากันและหลายครั้งนำไปสู่ความสูญเสีย

นายศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้ข้อมูลกับ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ว่า เมื่อมีการเผชิญหน้ากันระหว่างช้างกับคนและใช้วิธีที่ไม่ถูกต้องผลักดันช้างออกจากชุมชน เช่น การจุดปะทัดไล่ช้าง หรือการใช้อาวุธปืน จนทำให้ช้างตกใจหรือได้รับบาดเจ็บ เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมช้างป่า เพราะช้างจะเกิดการเรียนรู้และจดจำ จนนำไปสู่การทำร้ายคนเพื่อป้องกันตัวเอง ขณะที่การเผชิญหน้ากันโดยบังเอิญในตอนกลางคืนจะทำให้ช้างตกใจและวิ่งไม่มีทิศทางก็อาจนำไปสู่การทำร้ายคนได้เช่นกัน

หลายครั้งที่คนผลักดันช้างด้วยความไม่รู้และไม่ถูกวิธี ทำให้ช้างตกใจหรือบาดเจ็บ ช้างจะเรียนรู้และเข้าทำร้ายทันที

 

ส่วนวิธีการหลบเลี่ยงเมื่อต้องเผชิญหน้ากับช้าง ให้ถอยออกจากช้างในระยะห่าง 100 เมตรและหาที่กำบัง เพราะช้างจะมองไม่เห็นในระยะไกล และไม่ควรวิ่งเพราะจะยิ่งเป็นอันตราย ซึ่งช้างสามารถรับรู้กลิ่นและแรงสั่นสะเทือนได้ดี

หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ยังเปิดเผยว่า ในปี 2561 มีเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าใน 6 พื้นที่ป่า ได้แก่ ป่าตะวันออก, ป่าแก่งกระจาน, ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่, ป่าภูเขียว-น้ำหนาว, ป่าฮาลา-บาลา และป่าตะวันตก จำนวน 43 เหตุการณ์ มีคนได้รับบาดเจ็บ 96 คน ในจำนวนนี้เป็นเหตุการณ์ในพื้นที่ป่าตะวันออก 27 เหตุการณ์ คนบาดเจ็บ 32 คน ส่วนพื้นที่ป่าพนมดงรัก-ผาแต้ม เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรกรรม ไม่มีคนได้รับบาดเจ็บ

สำหรับจำนวนประชากรช้างป่าในประเทศไทย สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ได้คาดการณ์จำนวนช้างป่าในประเทศไทย มีประชากรราว 3,126-3,341 ตัวใน 16 กลุ่มป่า ซึ่งในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก มีอัตราการเพิ่มสูงที่สุด เมื่อปี 2561 ประชากรช้างป่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 ต่อปี โดยเฉพาะพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน

 

ทั้งนี้ ช่วงปี 2561 จนถึงเดือน ก.พ.2562 มีข่าวช้างเหยียบและทำร้ายคนเสียชีวิตหลายครั้ง เช่น กรณีช้างเหยียบเจ้าหน้าที่อนุรักษ์เสียชีวิต บริเวณไร่มันสำปะหลัง พื้นที่ทางตอนใต้ของหมู่บ้านนายาว ม.15 ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ห่างจากแนวเขตชายป่าของผืนป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก

กรณีช้างป่าเขาอ่างฤาไนทำร้ายพระเสียชีวิตระหว่างปักกลดพัก สันนิษฐานว่าเป็นเส้นทางหากินของโขลงช้างประมาณ 15 ตัว ที่มักลงมาหากินในพื้นเขาตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา

นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ช้างป่าทำร้ายชาวบ้าน ระหว่างการเข้าไปเก็บหาของป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี รวมทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง บ้านนาหลวง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง