ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาฮือฮามาก ในโลกโซเชียล "คนแพ้กุ้ง อาจกลับมากินกุ้งได้" หลังมีการส่งต่อประกาศของทีมนักวิจัยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นอาจารย์แพทย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กำลังศึกษาการแพ้กุ้งของคนไทย ขอรับอาสาสมัคร ที่สนใจมาร่วมเป็นหนึ่งในกลุ่มทดสอบจำนวน 50 คน แต่หลังประกาศไปได้ไม่เท่าไหร่ ผลตอบรับเกินคาด ล่าสุด มีผู้แสดงความจำนงค์ขอเป็นอาสาสมัครแล้วหลายพันคน พร้อมๆกับความหวังของคนที่แพ้กุ้งที่จะได้กลับมากินกุ้งใหม่ได้อีกครั้ง
นพ.สิระ นันทพิศาล อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในทีมวิจัยเรื่อง"การแพ้กุ้ง" ของคนไทย ยอมรับกับทางไทยพีบีเอส ว่า โปสเตอร์เชิญชวนให้ผู้สนใจ มาร่วมเป็นอาสาสมัครกับโครงวิจัยเกี่ยวกับการแพ้กุ้ง พร้อมๆกับ แคปชั่นที่สร้างความฮือฮามากที่สุด ในขณะนี้ว่า "คนแพ้กุ้งอาจกลับมากินกุ้งได้" ถูกโพสต์โดยหนึ่งในอาสาสมัครของทีมวิจัย
ตั้งเป้ารับสมัครอาสาสมัคร 50 คนจากเดิม ที่มีอยู่แล้ว 25 คน ซึ่งปรากฎว่าเพียงครึ่งวันเศษ ก็มีผู้สนใจหลายพันคนอยากจะเป็นอาสาสมัคร ด้วยความเข้าใจว่าการวิจัยนี้ จะช่วยให้คนแพ้กุ้งกลับมากินกุ้งได้
แต่ข้อเท็จจริงแล้ว การวิจัยมี 2 โครงการ โครงการแรก คือพัฒนาน้ำยาทดสอบที่ใช้กับผิวหนัง หรือ "skin test" เดิมไทยนำเข้าจากต่างประเทศ แต่น้ำยาที่กำลังพัฒนามีความละเอียดเทสการแพ้กุ้งได้ 3 สายพันธุ์ กุ้งขาวกุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ ดังนั้นคนที่ร่วมโครงการแล้วรู้ว่าตัวเองแพ้สายพันธุ์ใด ก็หลีกเลี่ยงได้ และกินสายพันธุ์ที่ไม่แพ้ได้
โครงการ 2 คือ การวิจัยโปรตีนในกุ้ง ส่วนใหญ่คือตระกูล "โทรโปไมโอซิน" แต่โปรตีนที่อยู่ในแต่ละส่วนต่างกัน เช่น มันกุ้งเป็นชนิดหนึ่ง แต่เนื้อกุ้งเป็นอีกชนิดหนึ่ง จึงทำให้บางคนกินเนื้อกุ้งได้ แต่กินมันกุ้งไม่ได้ ดังนั้นถ้ารู้ว่าเราแพ้ส่วนใดของกุ้ง ก็หลีกเลี่ยงส่วนอื่นกลับไปกินได้

ตั้งเป้า "คนแพ้กุ้ง จะกลับมากินกุ้งได้"
ส่วนคำถามว่า "คนแพ้กุ้ง จะกลับมากินกุ้งได้" นพ.สิระ ตอบกับไทยพีบีเอสว่า เป็นความจริงเพราะหากคนแพ้กุ้ง รู้ว่า ตัวเองแพ้กุ้งสายพันธุ์ไหน หรือกุ้งส่วนไหน เขาก็จะสามารถหลีกเลี่ยงหรือเลือกกินกุ้งสายพันธุ์ที่เขาไม่แพ้ได้
ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาด้วยอาการแพ้อาหารส่วนใหญ่จะแพ้กุ้ง แต่ที่น่าสนใจคือผู้ป่วยที่แพ้กุ้งบางคน กินเนื้อกุ้งได้ แต่กินมันกุ้งแล้วแพ้ หรือมีบางคนกินกุ้งสายพันธุ์นี้ได้ แต่กินสายพันธุ์อื่นแล้วแพ้
การวิจัยเบื้องต้น ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจ คือ คนแพ้กุ้งบางคน เว้นการกินกุ้งมากกว่า 10 ปี แล้วกลับมาทดสอบปรากฎว่าไม่แพ้ ผ่านการตรวจทั้ง 4 ขั้นตอน ซักประวัติ ใช้น้ำยาทดสอบตรวจเลือดและลองกินกุ้ง แต่โครงการวิจัยนี้ ยังอยู่ในระยะที่ 1 เท่านั้นจะวิจัยต่อไปอีก 3 ปี เพื่อพัฒนาน้ำยาทดสอบอาการแพ้โดยย้ำว่า การวิจัยนี้ไม่ใช่การวิจัย เพื่อรักษาคนที่มีอาการแพ้กุ้ง ให้กลับมากินกุ้งได้ อย่างที่มีการตีความกันไปก่อนหน้านี้
แท็กที่เกี่ยวข้อง: