วันนี้ (4 ก.พ.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันแรกของการเปิดรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพ หรือ สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง สถานที่รับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของกรุงเทพมหานคร โดยมีพรรคการเมืองเดินทางไปยังจุดรับสมัครตั้งแต่ช่วงเช้ามืด
ขณะที่พรรคการเมืองพรรคแรกที่เดินทางมาถึงจุดรับสมัคร เป็นผู้สมัครจากพรรครวมพลังประชาชาติไทย เดินทางมาถึงเมื่อเวลาประมาณ 04.20 น. ขณะที่วันนี้ แกนนำพรรคการเมืองต่างๆ เดินทางมาร่วมในการสมัคร ส.ส.ด้วย แม้ตัวเองจะไม่ได้ลงสมัคร
เปิดขั้นตอนรับสมัคร ส.ส.
สำหรับขั้นตอนในการรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ตั้งแต่วันที่ 4-8 ก.พ.62 กกต.ได้กำหนดขั้นตอนไว้ ดังนี้
1. เปิดลงทะเบียนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง “รับบัตร” เพื่อเข้าอาคารสถานที่รับสมัคร ตั้งแต่เวลา 06.00 น. (เจ้าหน้าที่ กกต. กทม.เตรียมพร้อมตั้งแต่ก่อนเวลา 05.30 น.)
2. เจ้าหน้าที่ชี้แจงขั้นตอนการรับสมัคร
3. เริ่มขั้นตอนการรับสมัคร ตาม คู่มือปฏิบัติงานการรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในเวลา 08.30-16.30 น.
4.กรณีผู้สมัครที่มาสมัครก่อนเวลา 08.30 น. ให้ถือว่ามาพร้อมกัน ถ้าตกลงลำดับการสมัครกันได้ให้ยื่นใบสมัคร
แต่หากเกิดกรณีผู้สมัครตกลงกันไม่ได้ ทางผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งจะจับสลากครั้งที่ 1 เพื่อกำหนดลำดับจับฉลาก จากนั้นผู้สมัครจับสลากลำดับการยื่นใบสมัคร
5.เจ้าหน้าที่ตรวจเอกสาร เมื่อเอกสารครบถ้วน จะออกใบรับสมัครให้ แต่หากเอกสารไม่ครบให้ผู้สมัครกลับไปนำเอกสารมาใหม่ภายในวันที่ 8 ก.พ.เท่านั้น
ทั้งนี้ ลำดับการยื่นใบสมัคร คือ หมายเลขของผู้สมัครในเขตนั้น
นอกจากนี้ กกต. ยังได้เน้นย้ำผู้สมัครรับเลือกตั้ง พรรคการเมือง และบุคคลที่เกี่ยวข้องว่า หากมีการจัดขบวนหรือกองเชียร์ที่แสดงการสนับสนุนหรือให้กำลังใจแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองในวันรับสมัครเลือกตั้ง พึงระมัดระวังอย่ากระทำการใดก่อนและหลังการสมัครรับเลือกตั้ง
ซึ่งอาจเข้าข้อห้าม มาตรา 73 (3) ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 (ห้ามทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ)
แบบไหนผ่าน-ไม่ผ่านคุณสมบัติ ส.ส.
คู่มือปฏิบัติงานการรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. ไว้ดังนี้
1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
2. อายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง
3. เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไป เพราะเหตุยุบสภา ระยะเวลา 90 วัน ดังกล่าวให้ลดลงเหลือ 30 วัน
4. ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
- เกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง
- เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีการศึกษา
- เคยรับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี
สำหรับลักษณะต้องห้ามที่มิให้ใช้สิทธิสมัครเลือกตั้ง ส.ส. เช่น เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต, เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ, อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ และเคยถูกสั่งให้ให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ เป็นต้น