วันนี้ (1 ก.พ. 2562) จากการประชุมเรื่องสถานการณ์ปัญหามลภาวะอากาศจากฝุ่น PM 2.5 และผลกระทบต่อสุขภาพคนไทย จัดโดยสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มีตัวแทนนักวิชาการ แพทย์ด้านสุขภาพเด็ก แลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ
พญ.ปองทอง ปูรานิธี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ปัญหาฝุ่ส่งผลกระทบต่อเด็ก เนื่องจากสามารถเข้าสู่ปอดได้ และหลุดเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ อีกทั้งเด็กหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่ ทำให้มีโอกาสดูดซึมมลพิษเข้าไปได้มากกว่า
เด็กหายใจเร็วกว่ามีโอกาสรับมลพิษมากกว่า และการวิ่งเล่น ออกกำลังกาย เมื่อหอบเหนื่อยจะรับฝุ่นเข้าไปมาก ทั้งร่างกายของเด็กภูมิคุ้มกันยังไม่สามารถกำจัดสิ่งแปลกปลอมได้ จึงมีความเสี่ยงกว่าผู้ใหญ่ และหากได้รับมลพิษตั้งแต่เด็ก มีโอกาสก่อให้เกิดโรคระยาวได้
สำหรับอาการในระยะสั้นที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก คือ ระคายเคืองตา หายใจติดขัด จมูกแสบขัดและเสี่ยงติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ กลุ่มโรคหืด และส่วนผลกระทบระยะยาว คือ โรคถุงลมอุดกั้นเรื้อรัง และมะเร็งบางชนิด
เด็กควรอยูภายในอาคาร ปิดหน้าต่าง-ประตูให้มิดชิดมากที่สุด และต้องระวังเพราะบางโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กยังมีแหล่งฝุ่นพิษอื่นๆ เช่น ควันบุหรี่
พญ.ปองทอง ยังแนะนำผู้ปกครองติดตามค่าดัชนีคุณภาพอากาศ AQI รวมถึงติดตามรายงานคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษที่มีการรายงานค่าฝุ่นละอองในทุกวัน และควรศึกษาสีต่างๆ ที่แสดงถึงความอันตรายจากปริมาณฝุ่นให้คุ้นเคยเพื่อเตรียมพร้อมในการป้องกันตนเองในชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กควรคัดกรองแยกกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงออกจากเด็กทั่วไป สำหรับเด็กที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ และอยู่ในบริเวณที่มีค่ามลพิษสูง พญ.ปองทอง แนะนำว่าควรให้เด็กงดเวลากิจกรรมกลางแจ้ง และเข้ามาอยู่ภายในอาคาร หากดัชนีสูงเกิน 150 มคก.ต่อ ลบ.ม.ขึ้นไป ควรงดกิจกรรมที่ทำให้เด็กเหนื่อย เพราะจะเสี่ยงหายใจเร็วแล้วรับฝุ่นเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น อาจส่งผลต่อโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
ยูนิเซฟ ร้องรัฐบาลเร่งลดมลพิษ ช่วยชีวิตเด็ก
ขณะที่ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ เรื่องมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและผลกระทบต่อเด็กเกี่ยวกับระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะเด็ก ๆ
ระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สูงนี้ ส่งผลกระทบต่อเด็กอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ ปกติแล้ว เด็กมีอัตราการหายใจถี่กว่าผู้ใหญ่ นั่นหมายความว่าเด็กจะสูดอากาศที่มีมลพิษเข้าไปมากกว่าผู้ใหญ่ ยิ่งเด็กอายุน้อยเท่าไร อัตราการหายใจเข้าต่อนาทีก็ยิ่งถี่มากขึ้นเท่านั้น และเนื่องจากอวัยวะของเด็กกำลังพัฒนา เด็กจึงมีความเปราะบางต่อผลกระทบต่าง ๆ มากกว่าทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
เมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ผ่านเข้าไปในสมองของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กที่อยู่ในครรภ์มารดา ฝุ่นละอองเหล่านี้จะทำลายเซลล์สมอง ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสติปัญญา ซึ่งสามารถส่งผลต่อการเรียนรู้ ความเป็นอยู่ และความสามารถในการประกอบอาชีพในระยะยาวด้วย
นอกจากนี้ มลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้น ยังมีความเสี่ยงมากที่สุดต่อเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจน ถึงแม้ว่าทุกคนหายใจโดยใช้อากาศร่วมกัน แต่เด็กจากครอบครัวที่ยากจนไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องกรองอากาศ หรือหน้ากาก N95 อีกทั้งเด็ก ๆ เหล่านี้อาจต้องใช้เวลาอยู่ข้างนอกมากกว่าด้วย
มาตรการเร่งด่วนที่ทางองค์การอนามัยโลกแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อเด็กและบุคคลทั่ว ได้แก่ พยายามอยู่ในบ้านเมื่อฝุ่นละอองมีอัตราสูง ทำห้องนอนให้สะอาดโดยเฉพาะสำหรับเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ควรเป็นห้องที่มีหน้าต่างน้อย ๆ หรือพยายามไม่เปิดประตูและหน้าต่าง และหากจำเป็นต้องออกไปข้างนอกเป็นเวลานาน ควรสวมหน้ากากอนามัย รุ่น N95 ที่ขนาดพอดี
อย่างไรก็ตาม แนวทางเร่งด่วนเหล่านี้จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงต่อเด็ก ๆ ในระยะสั้น การลดระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กให้ได้นั้น จะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนเพียงทางเดียวที่จะช่วยปกป้องสุขภาพของเด็กได้
องค์การยูนิเซฟเล็งเห็นถึงความพยายามของรัฐบาลไทยในการหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยสถานการณ์ปัจจุบันนี้เป็นเหมือนการตอกย้ำว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีมาตรการที่ชัดเจนและเด็ดขาด เพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ซึ่งรวมถึงการควบคุมการปล่อยอากาศเสีย การลงทุนในพลังงานทดแทน ระบบขนส่งมวลชน และการจัดการของเสียทางเคมีและการเกษตรที่ได้ประสิทธิภาพ
มีเพียงแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาวเท่านั้นที่จะช่วยให้เด็ก ๆ เติบโตในสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ และเรียนรู้ได้อย่างไม่จำกัด การแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพจะสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของรัฐ ร่วมกันแก้ไขปัญหาเพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับเด็ก