วันนี้ (1 ก.พ.62) ผู้สื่อข่าวรายงาน สถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่ ริมถนนพระราม 2 จ.สมุทรสาคร หลังจากที่ จ.สมุทรสาคร ดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ตั้งแต่วานนี้ (31 ม.ค.62) ในการควบคุมฝุ่นจากแหล่งกำเนิดประกอบกับสภาพอากาศที่ในวันในช่วงเช้ามีฝนตกโดยทำให้ค่าฝุ่นละอองขยับลดลงจากสีแดงมาอยู่ในเกณฑ์สีส้มซึ่งอยู่ในเกณฑ์เกินมาตรฐาน
ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 จากแอปพลิเคชั่น Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ ตั้งแต่เวลา 05.00 น.จนถึง 08.00 น. ค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 77 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังเกินค่ามาตรฐานแบบที่กำหนดไว้ต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่แต่ว่าค่าฝุ่นลดลงจากเมื่อวานนี้ (31 ม.ค.) โดยขยับจากสีแดงมาอยู่ในเกณฑ์สีส้ม แต่ยังคงเป็นเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ขณะที่ประชาชนประชาชนในพื้นที่ยังต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงเกินค่ามาตรฐานต่อเนื่องนานเกิน 10 วัน
ชาวบ้าน ชี้ยังต้องใช้ชีวิตท่ามกลางฝุ่น
ผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตในพื้นที่ดังกล่าวคนหนึ่ง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ซื้อหน้ากากอนามัยแบบธรรมดามาใช้ มีลักษณะบาง เมื่อต้องไปยืนขายของช่วงกลางคืน มีอาการแสบตา ไอ แต่เมื่อมาใช้หน้ากากอนามัย N95 สามารถป้องกันฝุ่นละอองได้ดีกว่า ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อร่างกายมากนัก ไม่แสบตา คอไม่แห้ง
สอดคล้องกับประชาชนอีกคนที่ระบุว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กมีผลกระทบกับชีวิตค่อนข้างมาก เพราะทำให้คัน เป็นหวัด ดังนั้นจึงต้องสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออกจากบ้านทุกครั้ง
จ.สมุทรสาคร เป็นจังหวัดที่มีค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐานต่อเนื่องเป็นอันดับ 1 แต่นายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าจังหวัดสมุทรสาคร ยืนยันว่า มติคณะกรรมการสารธารณสุขจังหวัด จะไม่ประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญไม่ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข ในการยกระดับมาตรการให้เข้มข้นขึ้น เนื่องจากกังวลผลกระทบในวงกว้างแต่จะขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่งและภาคอุตสาหกรรมลดการผลิตลงร้อยละ 30
มาตรการที่ชัดเจนต่อโรงงานอุตสาหกรรมคือขอความร่วมมือในการลดการผลิตลงร้อยละ 30 และจับควันดำ โดยพรุ่งนี้ (2 ก.พ.) ทุกโรงงานจะมาร่วมลงนามให้ความร่วมมือขณะที่โรงงานบางแห่งจะหยุดการผลิตเลย
ขณะนี้มีโรงงานประเภทหลอมประมาณ 40 แห่ง เริ่มปิดกิจการแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ (31 ม.ค.62) และจะปิดต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 6 ก.พ.นี้ และขนส่งจังหวัดจะเริ่มตรวจจับควันดำรถโดยสารสาธารณะตั้งแต่ต้นทางก่อนให้บริการ และตามเส้นทางคู่ขนานพระราม 2 ขณะที่มาตรการที่จะดำเนินการควบคู่กัน คือ การให้รถโดยสารสาธารณะจอดดับเครื่อง ขณะรอผู้โดยสารที่ต้องใช้เวลาประมาณ 10 - 15 นาที จากการสำรวจพบว่าบางส่วนทยอยให้ความร่วมมือ