วันนี้ (31 ม.ค.2562) สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยจัดประชุมทบทวนสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 กรณีศึกษากรุงเทพมหานคร โดยมีนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ตัวแทนกรมควบคุมมลพิษ และประชาชนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ที่ปรึกษาสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในเขต กทม.และปริมณฑล ในช่วงเดือน ธ.ค.2561 ต่อเนื่องจนถึงเดือน ม.ค.นี้ มีค่าเกินมาตรฐานต่อเนื่องสูงสุดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเกิน 141 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เกิดจากสภาพอุตุนิยมวิทยาช่วงปลายปีไม่เอื้อต่อการกระจายตัวของฝุ่น เป็นช่วงรอยต่อของฤดูหนาว ขณะที่ปัจจัยหลักมาจากการจราจรที่ติดและรถยนต์ดีเซล ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษของ PM 2.5 ถึงร้อยละ 52 ในเขตกทม.
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือช่วงที่ค่าฝุ่นเฉลี่ย 24 ชั่วโมง PM 2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้นเกินค่ามาตรฐานตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค. และเริ่มลดลงในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.เป็นต้นมา จากนั้นกลับมาสูงขึ้นจนเกินมาตรฐานสูงสุดในช่วง 1-2 วันนี้ ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยจากรถหนาแน่นและการปล่อยมลพิษจากรถยนต์สัมพันธ์กับค่าฝุ่นที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ นักวิชาการ ระบุว่าในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 4 ก.พ.นี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอปรับเกณฑ์เฉลี่ยฝุ่นรายปี PM 2.5 จากเดิมที่กำหนดไว้ 25 มคก.ต่อ ลบ.ม.เหลือ 10 มคก.ต่อ ลบ.ม. ซึ่งเป็นเป้าหมายการแก้ปัญหาระยะที่ 2 ควบคู่กับการใช้รถยนต์ยูโร 5 และ 6 ภายใน 4-5 ปีข้างหน้า
ก.พ.นี้ กทม.ยังอ่วมอากาศแห้ง
นายสุพัฒน์ กล่าวอีกว่า ขณะที่ยังน่าเป็นห่วงว่าช่วงเดือน ก.พ.นี้ คนกทม.ยังต้องเผชิญปัญหาฝุ่นมากขึ้นเนื่องจากปัจจัยสภาพอากาศแห้ง ประกอบกับภาวะการจุดไฟรอบจังหวัดปริมณฑลที่มีต้นไม้ที่แห้ง และการเผาป่าที่ก่อให้เกิดหมอกควันไฟป่าจากประเทศเพื่อนบ้านที่เริ่มพบจุดความร้อนสูงขึ้น และทิศทางลมคงหนีไม่พ้นพื้นที่ กทม.โดยเฉพาะเขตบางขุนเทียน ที่อยู่ในทิศทางลมและฝุ่นที่ลงมา ดังนั้นจึงเรียกร้องให้ผู้ที่ก่อมลพิษต้องช่วยกันลดอย่างจริงจัง เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะเข้มงวดตรวจวัดรถควันดำเพื่อลดมลพิษ แต่ปัจจัยจากการใช้รถส่วนตัว การเผาที่เกิดหมอกควันยังมีอยู่
ด้านนายพลภัทร เหมวรรณ อาจาย์ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละอองมีผลกระทบทางสุขภาพโดยตรง ซึ่งผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลก (WHO) ฝุ่นที่เพิ่มขึ้นทุก 10 มคก.ลบ.ม.ส่งผลให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ส่วนในกรุงเทพมหานคร เคยมีผลการศึกษาในปี 2548 พบว่าฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นทุกๆ 10 มคก.ต่อลบ.ม.จะทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 1.3% และเพิ่มขึ้น 0.4% ในกลุ่มเด็ก 5 ปี
ขณะที่ผลการศึกษาในจ.เชียงใหม่ในปี 2558 พบว่าผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น 1.3% จากปริมาณฝุ่น PM10 มากกกว่า 50 มคก.ต่อลบ.ม.ขณะที่สอดคล้องกับผลศึกษากลุ่มโรคมะเร็งในจังหวัดภาคเหนือที่มีปัญหาหมอกควันไฟป่ามา 10 ปีจะเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดมากสุดภาคเหนือ
ชงเสนอปรับค่าบ่งชี้ผลกระทบสุขภาพ
ด้าน น.ส.ถนอมลาภ นัชวัตร์ นักวิจัยสถาบันสิ่งแวดล้อม เสนอมาตรการในการแก้ปัญหาสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในกทม.ว่า ควรมีการปรับการบ่งชี้ระดับความรุนแรง จากปัจจุบันระดับ 4 สีแดง ที่กำหนด 91 มคก.ต่อ ลบ.ม.ถึงจะเป็นระดับสีแดง โดยเสนอให้ปรับเป็นสีส้ม (มีผลกระทบต่อสุขภาพ) ตั้งแต่ค่าฝุ่นเกิน 51 มคก.ต่อลบ.ม.เพื่อลดกระทบที่เกิดขึ้นจากฝุ่นละออง
นอกจากนี้ให้เพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายลดและควบคุม PM 2.5 จากแหล่งกำเนิดตลอดเวลาและต่อเนื่อง เช่น มาตรการในการกำหนดภาษีรถยนต์ ที่ปล่อยมลพิษและมีการตรวจจับปรับอย่างจริงจัง นอกจากนี้ควรมีความเข้มงวดกฎหมายการเผาในที่โล่ง เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้น
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีกลไกในการสื่อสาร ประสานงาน และสั่งการในสถานการณ์ที่ค่าฝุ่นละอองเริ่มมีผลต่อสุขภาพ เพิ่มขีดความสามารถของเครื่องตรวจวัด PM 2.5 ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และมีแผนการรับมือเฉพาะในแต่ละพื้นที่ โดยความร่วมมือระหว่างจังหวัด เพื่อให้การแก้ปัญหา ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพน้ำมันให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 และ 6
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฝุ่น PM 2.5 : ริมถนนพระราม 2 ค่าฝุ่นพุ่งสูง ยังไม่ประกาศเขตควบคุม
ฝุ่น PM 2.5 : แนะพ่นละอองน้ำจากตึกสูง - รถหัวฉีด Water cannon ลดฝุ่น
ฝุ่น PM 2.5 : 7 วิธีป้องกันตนเองช่วงวิกฤตฝุ่นพิษ
ฝุ่น PM 2.5 : นักวิชาการแนะ "ดูดฝุ่นลงแม่น้ำ" ย้ำปลอดภัย 100%