ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สมุทรสาครฝุ่นพิษพุ่งสูง 123 เข้าขั้นวิกฤตสีแดง

สิ่งแวดล้อม
29 ม.ค. 62
20:08
785
Logo Thai PBS
สมุทรสาครฝุ่นพิษพุ่งสูง 123 เข้าขั้นวิกฤตสีแดง
วันนี้ (29 ม.ค.) ค่าฝุ่น PM 2.5 ริมถนนคู่ขนานพระราม 2 อ.เมือง จ.สมุทรสาคร พุ่งสูง 123 มคก./ลบ.ม. ผู้ว่าราชการจังหวัดเรียกทุกภาคส่วนหารือสาเหตุปัญหา ขณะที่ภาคเอกชนทดลองใช้น้ำผสมสารกลุ่มน้ำตาลแก้ปัญหาฝุ่น ด้านนักวิชาการเตือนวิธีการนี้เสี่ยงเพาะเชื้อโรค

วันนี้ (29 ม.ค.2562) สถานการณ์ค่าฝุ่นละอองใน จ.สมุทรสาคร กลับมาวิกฤตอีกครั้ง หลังค่าฝุ่นละออง PM 2.5 พุ่งสูงติดต่อกันหลายวัน ล่าสุดเมื่อเวลา 19.00 น. พบว่าค่าฝุ่น PM 2.5 ที่ริมถนนคู่ขนานพระราม 2 อ.เมือง จ.สมุทรสาคร พุ่งสูงถึง 123 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร นับเป็นค่าที่สูงที่สุดในรอบสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค.เป็นต้นมา

 

นายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เรียกทุกภาคส่วนเข้าหารือ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน เบื้องต้นเชื่อว่าอาจมาจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันเตาไม่ได้มาตรฐานเป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตกว่า 500 แห่ง จึงสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโรงงานที่คาดว่าจะเป็นต้นเหตุ โดยหากตรวจพบจะสั่งระงับตามกฎหมายและให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขต่อไป

นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ยังให้ข้อมูลกับไทยพีบีเอส เกี่ยวกับกรณีที่ภาคเอกชนให้ความร่วมมือเสนอแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 โดยใช้น้ำผสมกับสารบางชนิดที่อยู่ในกลุ่มน้ำตาล ฉีดพ่นในอากาศโดยใช้โดรน ในพื้นที่โล่งบริเวณหมวดทางหลวงมหาชัย จ.สมุทรสาคร ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถดักจับฝุ่นละอองและทำให้ค่าฝุ่นละอองในอากาศลดลงได้นั้น

ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ระบุว่า ได้รับการประสานจากภาคเอกชนให้ไปร่วมสังเกตการณ์การทดลองฉีดพ่นน้ำผสมสารดังกล่าวในอากาศ โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งจากการสังเกตด้วยตาเปล่ารู้สึกว่าฝุ่นลดลงเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามยังไม่มั่นใจว่าวีธีการนี้จะช่วยลดค่าฝุ่นละอองได้ จนกว่าจะมีการทดลองทางวิทยาศาสตร์มายืนยัน

เตือนฉีดน้ำผสมน้ำตาลจับฝุ่น เสี่ยงเพาะเชื้อโรค

ด้าน รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า วิธีการดักจับฝุ่นละอองในอากาศโดยใช้น้ำผสมกับสารกลุ่มน้ำตาล อาจมาจากการที่โรงงานน้ำตาลนำกากน้ำตาล หรือโมลาส ที่เหลือใช้จากการผลิตน้ำตาล ซึ่งความหนืดของโมลาสสามารถจับฝุ่นได้ แต่ใช่ไม่ได้ผลกับฝุ่น PM 2.5 ขณะที่งานวิจัยจากรัสเซีย พบว่าละอองน้ำที่จะจับ PM 2.5 ได้ต้องมีขนาดระดับนาโนใกล้กับเคียงฝุ่น

ดังนั้น ยิ่งใส่น้ำตาลลงไปในน้ำจะทำให้อนุภาคยิ่งใหญ่ขึ้นและสามารถจับ PM 10 ได้เท่านั้น ขณะเดียวกันความหวานจะเป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ เมื่อละอองน้ำเชื่อมไปตกตรงไหนก็จะทำให้มีเชื้อราหรือแบคทีเรียเกิดขึ้นแทนได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง