วันนี้ (29 ม.ค.2562) พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประธานประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหา PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพ มหานครและปริมณฑล ร่วมกับ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้แทน 5 จังหวัดปริมณฑล และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมควบคุมมลพิษ กองบังคับการตำรวจจราจร กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และกรมอุตุนิยมวิทยา
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวถึงกรณีที่ค่าปริมาณฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานของ จ.สมุทรสาครหลายวันติดต่อกัน เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในการออกมาตการต่างๆ หรือการประกาศเขตควบคุมเหตุรำคาญตามกฎหมายการสาธารณสุข ปี 2561 เพื่อยุติแหล่งกำเนิดมลพิษ
วันตรุษจีน ขอความร่วมมืดลดจุดธูป
ด้านพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่าเตรียมประกาศการควบคุมมลพิษทางอากาศของ กทม.และปริมณฑลภายในวันนี้ โดยอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะดำเนินการในพื้นที่ใดบ้าง พร้อมแจ้งข้อมูลไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินมาตรการป้องกันฝุ่นละอองอย่างเข้มงวด ตลอดจนสถานศึกษาเพื่อพิจารณามาตรการป้องกันในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสมนอกจากนี้ กทม.จะมีการตั้งศูนย์แถลงความคืบหน้าสถานการณ์มลพิษ 2 ช่วงเวลา คือ เช้า-เย็น เพื่อให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด
ในช่วงเทศกาลตรุษจีน คงขอความร่วมมือเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ และมลภาวะในอากาศ ลดการจุดธูปได้โดยไม่ขัดต่อความเชื่อ
เบื้องต้นคาดว่าจะวันพรุ่งนี้ (30 ม.ค.) จะประกาศพื้นที่นำร่องควบคุมมลพิษทางอากาศในเขตกทม. และปริมณฑลรวม 26 พื้นที่ โดยใช้ค่าประเมิน PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน 51-75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ76-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกับสำนักงานโยธา รฟม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือ และจะมุ่งเน้นควบคุมปัญหาฝุ่นจากการก่อสร้าง
ทั้งนี้มีรายงานว่า เบื้องต้นจะ เน้นพื้นที่สุ่มเสี่ยงสูงก่อน เช่น สาทร หน้ามหาวิทยาลัยเกษตร เขตบางเขน ถนนอินทรพิทักษ์ เขตบางขุนเทียน ถนนพระราม 2 จ.สมุทรสาคร
ชงบอร์ดสวล.ลดค่าฝุ่นPM 2.5 เหลือ 35 มคก.ต่อลบ.ม.
นอกจากนี้ในวันที่ 4 ก.พ.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ร่วมกันพิจารณาถึงค่ามาตรฐาน PM 2.5 ที่กำหนดอยู่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อาจใช้เป็น 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในระยะ 3-5 ปี และในระยะ 10-20 ปีตั้งเป้าปรับค่ามาตรฐาน PM 2.5 อยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พร้อมศึกษากฎหมายคุณภาพอากาศ เพื่อเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ
ทั้งนี้ ก่อนติดตั้งระบบ ค่า PM2.5 เท่ากับ 70 และ 71 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินมาตรฐาน หากผลการตรวจวัดเป็นที่น่าพอใจ จะขยายผลไปตั้งอาคารด่านเก็บเงินโดยเฉพาะช่องรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิด PM 2.5 ขณะเดียวกันได้รณรงค์ประชาชนที่ใช้ทางหลวงพิเศษเปลี่ยนมาใช้งานระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติหรือM-PASS ลดการติดสะสมของปริมาณการจราจรหน้าด่านเก็บเงิน
ขณะที่กรมทางหลวง ทดสอบระบบปล่อยฝอยละอองน้ำบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 เพื่อดูว่าสามารถลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ได้หรือไม่ โดยทดสอบระบบปล่อยฝอยละอองน้ำบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 จำนวน 2 จุด ได้แก่พื้นที่หน้าด่านฯ ทับช้าง 1 (มุ่งหน้าบางพลี) และพื้นที่หน้าด่านฯทับช้าง 2 (มุ่งหน้าบางปะอิน)
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง ระบุว่าระบบนี้เป็นระบบประปาแรงดันสูง และระบบทำฝอยละอองน้ำละเอียดขนาด 20 ไมครอน จะไม่รบกวนทัศนวิสัยของผู้ขับขี่และไม่มีน้ำเจิ่งนองบนพื้นถนน จนก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ทาง โดยปล่อยช่วงเวลา 18.00 น.- 24.00 น.ซึ่งพบฝุ่น PM 2.5 สูง และเปิดเพิ่มช่วงปริมาณจราจรสะสมหนาแน่นเป็นพิเศษ