วันนี้ (23 ม.ค.2562) กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ไมครอนตรวจพบค่าระหว่าง 37-69 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยยังเกินมาตรฐานรวม 14 พื้นที่ แบ่งเป็นพื้นที่ริมถนน 9 พื้นที่ และพื้นที่ทั่วไป 5 พื้นที่ ดังนีัิ
- ริมถนนคู่ขนานพระราม 2 อ.เมือง จ.สมุทรสาคร 69 ไมโครกรัมลูกบาศก์เมตร
- ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน 56 ไมโครกรัมลูกบาศก์เมตร
- ริมถนนพระราม 3 เจริญกรุง เขตบางคอแหลม 58 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
- ริมถนนพระราม 2 เขตบางขุนเทียน 56 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
- ริมถนนพหลโยธิน เขตบางเขน 53 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
- ริมถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ เขตธนบุรี 54 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
- ริมถนนลาดกระบัง 53 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
- ต.นครปฐม อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม 62 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
- ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน สมุทรสาคร 59 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ถ้าเทียบกับเมื่อวานนี้ (22 ม.ค.) พบว่าค่าฝุ่นละอองมีแนวโน้มลดลง ซึ่งเคยอยู่ในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ มีค่า 92-101 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่ามาตรฐาน (50 มคก.ต่อลบ.ม.)
และจากการคาดการณ์ในวันพรุ่งนี้ (24 ม.ค.) จากการพยากรณ์ และแบบจำลองของกรมอุตุนิยมวิทยา การลอยตัวของอากาศจะดีขึ้น ลมพัดแรงขึ้น อาจทำให้ฝุ่นละอองมีโอกาสเจือจางลงได้ แต่ทางกรมควบคุมมลพิษ ยังคงประสานงานกับกทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กทม. บก.จร. ขนส่ง กองทัพกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงคมนาคม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงสาธารณสุข และผู้ว่าราชการจังหวัดในปริมณฑล ทั้ง 5 จังหวัดดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เช่น ล้างถนนทุกวันทุกสาย ฉีดละอองน้ำในอากาศเพื่อเพิ่มความชื้น ตรวจจับรถควันดำเกินค่ามาตรฐาน การทำฝนเทียม และห้ามเผาในที่โล่ง
ชงเสนอปรับค่าเกณฑ์ฝุ่นพิษ 70 มคก.ต่อลบ.ม.
นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า วันนี้จะมีการแถลงมาตรการแก้ปัญหา PM 2.5 ที่ดำเนินการอยู่ทั้งหมด รวมทั้งเตรียมนำข้อเสนอมาตรการที่เข้มข้นขึ้น ตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นละออง โดยวาระสำคัญที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมมลพิษ คือเรื่องเกณฑ์การพิจารณาปรับค่าฝุ่น PM 2.5 จากที่กำหนดไว้ 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรติดต่อกัน 3 วัน ถึงจะใช้มาตรการเข้มข้นขึ้นประกาศภัยพิบัติมลพิษจากปัญหาฝุ่น โดยอาจะพิจารณาปรับเหลือ 70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นข้อเสนอของนักวิชาการและสิ่งที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อประกาศมาตรการฉุกเฉินจากฝุ่นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น การปิดโรงเรียน งดกิจกรรมกลางแจ้ง เป็นต้น
ขณะนี้มีข้อเสนอว่าเป็นตุ๊กตาว่าตัวเลขที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะไม่ใช่ 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรแล้วถึงจะมีมาตรการที่เข้มข้นออกมา แต่ตรงนี้ขึ้นกับว่าคณะกรรมการควบคุมมลพิษ จะให้ความเห็นอย่างไร
เทียบค่าภัยพิบัติจากฝุ่นพิษ รัฐต้องเตือนประชาชน
ขณะที่นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่า สุขภาพของคนไทยต่ำกว่าฝรั่ง ประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น ยุโรป อเมริกาเกือบทุกแห่ง จะกำหนดดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อเตือนประชาชนให้ปฎิบัติตัวในการป้องกันมลพิษทางอากาศเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพรวมทั้งมีมาตรการทางกฎหมายจัดการก่อนลุกลาม
1.ได้มีการกำหนดคุณภาพอากาศที่เลวร้ายเป็นสีแดงและสีน้ำตาลโดยมีค่า AQIH ระดับ 7-9 หรือมีค่า PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงระหว่าง 54-70 มคก.ต่อลบ.ม.แสดงว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก คนแก่ ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป ต้องลดการทำกิจกรรมกลางแจ้งและระวังตัวเพราะอาจมีอาการแสบตา เจ็บคอ หรือไอเป็นต้นและยังกำหนดให้นักเรียนทุกคนต้องอยู่ภายในห้องเท่านั้น
2.มีการกำหนดคุณภาพอากาศที่เลวร้ายมากเป็นสีม่วง โดยมีค่า AQIH ตั้งแต่ระดับ 10 ขึ้นไปหรือมีค่า PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชม.ตั้งแต่ 70 มคก.ต่อลบ.ม.ขึ้นไปแสดงว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งต่อ กล่มเสี่ยง เด็ก คนแก่ ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปต้องใช้เครื่องช่วยหายใจทุกครั้งที่อยู่กลางแจ้งและไม่ควรออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง นักเรียนควรหยุดเรียน
3.ถ้าคุณภาพอากาศอยู่ในช่วงข้อ 1 (ค่า PM 2.5 เฉลี่ย24ชมระหว่าง 54-70 มคก.ต่อลบ.ม.) รัฐบาลจะต้องเริ่มมีมาตรการทางกฎหมายในการปกป้องสุขภาพประชาชนโดยจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และหากคุณภาพอากาศเลวร้ายถึงข้อ
แต่ถ้าอยู่ในระดับ 2 (ค่า PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชม.ตั้งแต่ 70 มคก.ต่อลบ.ม.ขึ้นไป) รัฐบาลจะประกาศเป็นเขตควบคุมภัยพิบัติที่ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวดต้องทำการเอ็กซเรย์ และจัดการลดมลพิษทางอากาศทุกแหล่งกำเนิดโดยเฉพาะค่า PM 2.5เพื่อทำให้ไปกลับสู่คุณภาพอากาศที่ดีโดยเร็วที่สุด
ขณะที่ประเทศไทยต้องรอให้ฝุ่น 2.5 เฉลี่ย 24 ชม.เกินค่า 90 มคก.ต่อลบ.ม.อย่างน้อย 3 วันก่อนจึงจะมีมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น แต่ถ้าหากยังเอาไม่อยู่ จึงจะใช้มาตรา 9 พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 ประกาศเป็นเหตุฉุกเฉินทางสิ่งแวดล้อมให้นายกรัฐมนตรีสั่งการ หรือประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษตามมาตรา 59 ของพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ขณะที่ทุกวันนี้หลายแห่งก็มีค่า PM 2.5 ระหว่าง70-85 มคก.ต่อลบ.ม.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
โรงเรียนรุ่งอรุณ ให้เด็กเล็ก "หยุดเรียน 3 วัน" เลี่ยงฝุ่น PM2.5
เตือน! รับฝุ่นพิษนานทำลายเซลล์ผิวหนัง สร้างริ้วรอย-จุดด่างดำ