ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สทนช.สั่งพร่องน้ำ 2 เขื่อนภาคใต้รับมือพายุปาบึก

ภัยพิบัติ
2 ม.ค. 62
13:41
2,067
Logo Thai PBS
สทนช.สั่งพร่องน้ำ 2 เขื่อนภาคใต้รับมือพายุปาบึก
สทนช.ลงพื้นที่สุราษฎร์ธานี พรุ่งนี้(3 ม.ค.) ตั้งวอร์รูมวิเคราะห์สถานการณ์พายุปาบึก พัดเข้าอ่าวไทย กำชับ 3 จังหวัดคือชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี เฝ้าระวัง พร้อมเร่งพร่องน้ำเขื่อนปราณบุรี เขื่อนแก่งกระจาน รับน้ำฝนที่คาดว่าจะตกหนักถึง 200-300 มม.

วันนี้ (2 ม.ค.2562) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้สั่งจังหวัด และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ภาคใต้รับมือพายุปาบึก โดยเฉพาะพื้นที่เคยมีปัญหาฝนตกหนักและระบายน้ำไม่ทัน พร้อมยืนยันว่าระบบเตือนภัยไม่มีปัญหา เพราะไทยมีทั้งระบบและบุคลากรที่ดีมากในระดับอาเซียน ซึ่งสาธารณภัยที่จะเกิดขึ้นจะรุนแรงหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับธรรมชาติว่าจะหนักแค่ไหน 

ด้านนายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช.กล่าวว่า จากการประชุมร่วมคณะทำงานศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น กรมชล ประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมทรัพยากรน้ำ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า พายุจะเคลื่อนตัวเข้าฝั่งอ่าวไทย มีผลกระทบมากในวันที่ 4 ม.ค.นี้

 

 

กรมอุตุนิยมประเมิน คาดว่าพายุปาบึก อาจจะมีความเร็วลมมากถึง 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ระดับ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะมีฝนตกหนักประมาณ 200-300 มิลลิเมตรต่อวัน เกิดปัญหาน้ำท่วม และน้ำป่าไหลหลากทำให้ภาคใต้หลายจังหวัดได้รับผลกระทบ

แต่ที่จะได้รับผลกระทบมาก และต้องเฝ้าระวังมากที่สุด คือชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี ซึ่งเป็นทางผ่านของพายุโซนร้อน โดยเฉพาะฝนที่ตกหนักเข้าพื้นที่โดยตรงเหนือเขื่อนแก่งกระจาน และเขื่อนปราณบุรี ซึ่งเคยเจอปัญหาน้ำล้นเขื่อนมาแล้ว 

ยอมรับว่าเป็นห่วงในเรื่องของปริมาณน้ำทั้ง 2 แห่งที่มี 80% และเคยเกิดปัญหาปริมาณน้ำล้นมาแล้ว ได้ประสานกรมชลประทาน ประเมินปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน และเร่งพร่องน้ำให้ทัน และประกาศให้กับประชาชนที่อยู่ด้านล่างรับทราบ  

 

พร่องน้ำ 2 เขื่อนแก่งกระจาน-ปราณบุรี


นายสำเริง กล่าวว่า จากการประชุมวิเคราะห์สถานการณ์ แต่ละหน่วยงานเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า พายุจะเข้าอ่าวไทย และเริ่มมีฝนตกตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.นี้เป็นต้นไป และคาดการณ์ว่าฝนจะตกหนักวันที่ 4-5 ม.ค.นี้ ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและกรม ชลประทานที่รับผิดชอบเขื่อนต่างๆ ต้องประเมินสถานการณ์รับมือกับปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ยังคาดการณ์ว่าพายุปาบึก อาจจะไม่ถึงขั้นพัฒนาเป็นไต้ฝุ่นเกย์ ที่เคยพัดถล่มแถวพื้นที่ อ.ปะทิว จ.ชุมพร เมื่อปี 2532 และส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยครั้งนั้นมีความแรงของลมสูงถึง120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ก็ยอมรับว่าพายุปาบึก ถือว่าเป็นพายุโซนร้อนที่มีความรุนแรงอยู่  

โดยในวันพรุ่งนี้ (3 ม.ค.) จะเดินทางลงพื้นที่ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อตั้งศูนย์วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ โดยมีสำนักงานที่ปภ.เพื่อเป็นกองบัญชาการในการติดตามและให้ความช่วยเหลือพื้นที่ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไม่ปกติ ! พายุปาบึกเข้าใต้เดือนม.ค.นี้ห่วงแรงเท่า "แฮเรียต"

อพยพ จนท.แท่นขุดเจาะกลางอ่าวไทยขึ้นฝั่งหนีพายุปาบึก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง