วันนี้(28 ธ.ค.) พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) แถลงนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติด "ไม่เกรงใจใคร! ปะ-ฉะ-ดะ ยาเสพติด" โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค, นายกรณ์ จาติกวณิช ประธานกรรมการนโยบายพรรค, พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ และนายอันวาร์ สาและ คณะทำงานนโยบายปราบปรามยาเสพติด ร่วมการแถลงนโยบาย
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา พบว่าประชาชนมีความเดือดร้อนจากยาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ไม่ต่างจากเรื่องปากท้อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีเงื่อนไขเฉพาะ เช่น สามจังหวัดชายแดนใต้ ที่ประชานสะท้อนปัญหาเรื่องยาเสพติดที่มีความรุนแรงไม่น้อยกว่าเรื่องปากท้องหรือเรื่องความไม่สงบในพื้นที่ ดังนั้น ปชป. จึงเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และกำหนดนโยบาย 5 มาตรการ ครอบคลุ่มการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดผู้เสพยาเสพติดเพื่อให้มีการแก้ไขยั่งยืน
พล.ต.ต.วิชัย กล่าวว่า นโยบายคือ 1. ยกระดับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ปปส.) โดยการให้อำนาจ "สอบสวน" จากเดิมมีอำนาจสืบสวน จับกุม อายัด ฯลฯ เพราะหากมีอำนาจ "สอบสวน" เท่าตำรวจ จะส่งสำนวนฟ้องไปยังอัยการโดยไม่ต้องผ่านตำรวจ ซึ่งจะเป็นการแบ่งเบาภาระตำรวจและเป็นการคานอำนาจตำรวจ ที่สำคัญจะเป็นการป้องกันการทำผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดด้วย ทั้งนี้หากมีงบประมาณจะต้องยกระดับ ปปส. ให้มีทุกจังหวัด เพื่อให้การแก้ไขปัญหาครอบคลุม
2.เพิ่มโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพราะการแพร่ระบาดส่วนหนึ่งมาจากการที่เจ้าหน้าที่ละเลยหรือมีส่วนร่วมกับการกระทำผิด ส่วนผู้บังคับบัญชาจะต้องถูกดำเนินการทางวินัยด้วย 3. "ผู้เสพจับซ้ำ ต้องย้ำคุก" คือมาตรการที่จะดำเนินการกับผู้เสพที่เคยได้รับการบำบัด แต่กลับออกมาแล้วเสพซ้ำ เช่น คนที่ผ่านการบำบัด แต่ถูกจับซ้ำ 2 ครั้งขึ้นไป ต้องรับโทษตามกระบวนการยุติธรรม ถ้ามีโทษจำคุกก็ต้องเข้าคุก
4.สร้างอาสาป้องกันยาเสพติด ยกตัวอย่าง กทม. มีกว่า 2 พันชุมชน สมมติตั้งอาสาชุมชนละ 4 คน คล้ายตำรวจบ้าน จะช่วยป้องกันชุมชนได้ดี ซึ่งจะต้องมีเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงให้ด้วย ทั้งนี้ช่วงที่ตนทำงานเป็นที่ปรึกษา กทม. ได้สร้างอาสาสมัครไว้แล้วกว่า 9 พันคน และต้องขับเคลื่อนต่อไป 5.เพิ่มศูนย์บำบัด เพราะยังมีไม่ครอบคลุมพื้นที่และไม่ได้คุณภาพ หากยกระดับได้จะสามารถคืนคนสู่สังคมได้อีกมาก
ปะ ฉะ ดะ คือการมุ่งแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ปะ คือดำเนินการ ฉะ คือไม่กลัวอิทธิพล ดะ คือไม่เลือกหน้า
นายอันวาร์ กล่าวว่า สามจังหวัดชายแดนใต้มีการระบาดรุนแรง โดยเฉพาะสูตร “สี่คูณร้อย” จากเดิมที่เสพเฉพาะวัยรุ่น แต่ขยายไปยังกลุ่มผู้นำชุมชนแล้ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนโดยตรง เช่น ผู้เสพไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ ที่สำคัญยังมีการยกระดับเป็นธุรกิจ เช่น หมู่บ้านหนึ่งรับต้มแล้วขาย จึงเป็นการสะท้อนว่าปัญหารุนแรงและต้องแก้ไข
ส่วนการบำบัดต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามี 2 ระบบ คือ สมัครใจ และถูกบังคับ ซึ่งในพื้นที่บางแห่งพ่อแม่ไม่สามารถพาลูกบำบัดนอกพื้นที่ เพราะ 1.อาย 2.มีค่าใช้จ่าย 3.กลัวว่าลูกจะไปมั่วสุมกับคนที่เสพมากกว่า ทั้งนี้การย้ายไปยังศูนย์ที่กระจายตามจุดต่างๆ อาจกลายเป็นการมั่วสุกหรือฝึกผู้เสพหน้าใหม่ให้กลายเป็น "ยอดฝืมือ" ดังนั้นการเพิ่มจุดบำบัดหรือการเข้าไปบำบัดตั้งแต่ระดับหมู่บ้านจะช่วยแก้ปัญหาได้ดีขึ้น