ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับตา "ภาคใต้" เสี่ยงเจอฝนตกระลอกใหม่ปลาย ธ.ค.นี้

ภัยพิบัติ
18 ธ.ค. 61
12:59
4,060
Logo Thai PBS
จับตา "ภาคใต้" เสี่ยงเจอฝนตกระลอกใหม่ปลาย ธ.ค.นี้
สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้เริ่มคลี่คลายลงที่ จ.พัทลุง แต่กรมอุตุนิยมวิทยา พบสัญญาณระลอกใหม่ อาจจะมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้อีกครั้ง ช่วงปลายเดือนธ.ค.นี้ แต่ต้องรอความชัดเจน แนะติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

วันนี้ (18 ธ.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่า สถานการณ์อุทกภัยจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรง พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ช่วงวันที่ 15-18 ธ.ค.นี้ ทำให้เกิดน้ำท่วม ฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ 4 จังหวัด รวม 31 อำเภอ 157 ตำบล 847 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 54,000 ครัวเรือน

ขณะนี้สถานการณ์ในจ.พัทลุงคลี่คลายแล้วปัจจุบันยังเหลือ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 19 อำเภอ จ.สุราษฎร์ธานี 7 อำเภอ  และ จ.ตรัง ยังคงมีสถานการณ์ในอำเภอรัษฎา

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า นอกจาก 3 จังหวัดนี้แล้วยังมีสถานการณ์น้ำในจ.นราธิวาส ที่มีน้ำท่วมเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำโก-ลก แนวโน้มระดับน้ำทรงตัว และยังไม่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ชุมชน

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด 3 จังหวัด ประกอบด้วยสุราษฎร์ธานี ชุมพร และพัทลุง สำหรับจังหวัดที่เผชิญสถานการณ์อยู่ในขณะนี้ หากฝนไม่ตกหนักลงมาเพิ่ม คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วันนี้

 

คาดภาคใต้ฝนลดแต่ยังตกหนักบางแห่ง

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ภายในวันนี้ (18 ธ.ค.) ปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ภาคใต้ เช่น ที่ จ.นครศรี ธรรมราช  พัทลุง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นราธิวาส และ ปัตตานีจะลดลง หลังจากในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกลงมาอย่างหนัก ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์ฝนจะคลี่คลาย แต่ก็จะยังคงมีฝนตกลงมาอยู่และมีฝนตกหนักบางแห่ง แต่จะอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าเป็นกังวลเหมือนก่อนหน้านี้

นายภูเวียง ประคำมินทร์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า จากการประเมินภาพรวมล่าสุด คาดว่าในช่วงปลายเดือนธ.ค.นี้ อาจจะมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้อีกครั้ง เนื่องจากตรวจพบสัญญาณระลอกใหม่ แต่ยังต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งแม้จะยังไม่ยืนยันข้อมูลดังกล่าว แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

จากสถิติของปริมาณฝนปี พ.ศ.2561 พบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกับปีที่ 2560 แต่ในปีนี้อาจจะมีปริมาณน้ำสะสมตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น เทือกเขา หรือ แม่น้ำลำคลอง มาตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝนเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดอุทกภัยได้รวดเร็วกว่า 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง