วันนี้ (10 ธ.ค.2561) นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการด้านการเมืองการปกครอง กล่าวในการเสวนาหัวข้อ "มองประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ปัญหาที่ใหญ่กว่าวิกฤติการเมือง" โดยวิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองว่า อนาคตการเมืองไทย จะเป็นยุคประชาธิปไตยอิทธิพลใต้อำนาจกลุ่มทุนใหญ่ อาจเกิดวิกฤตการเมืองใหม่ที่กลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดอำนาจ โดยมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีโอกาสจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เพราะเห็นว่า คสช.ตั้งใจสืบทอดอำนาจมานานแล้ว ตั้งแต่ล้มรัฐธรรมนูญฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มาเป็นฉบับของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ตั้งพรรคพลังประชารัฐมาดึงกลุ่มการเมืองร่วมงาน อีกทั้งยังมี ส.ว. 250 คนที่มีส่วนร่วมกับ ส.ส.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีความชอบธรรมต่ำ เพราะรูปแบบการประสานผลประโยชน์ระหว่างทหาร ข้าราชการ กลุ่มอนุรักษ์ และกลุ่มทุน
ขณะเดียวกัน การตรวจสอบจากองค์กรอิสระถูกปิดกั้น ซึ่งพฤติกรรมนี้ไม่ต่างจากระบอบทักษิณในอดีต คือเอารัดเอาเปรียบก่อนเลือกตั้ง เช่น ทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามด้วยอำนาจที่มี แจกเงินคนจนทั้งบัตรคนจน ซิมอินเทอร์เน็ต พร้อมกับชี้ว่าการเลือกตั้ง 2562 เป็นการสัมปทานคะแนนเสียงเป็นรัฐบาล โดยใช้ประชานิยมคล้ายกับการเลือกตั้งปี 2542 โดยเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ และกองทัพไม่ใช้อำนาจจนถูกครหาว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งสกปรก หรือโกงการเลือกตั้ง
นักวิชาการด้านการเมืองการปกครอง กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมก่อนการเลือกตั้งว่า ฝ่ายผู้ถืออำนาจรัฐอย่าใช้อำนาจที่นำไปสู่การจัดการเลือกตั้งที่สกปรก เพราะอาจทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจ พร้อมเสนอให้จัดการเลือกตั้งที่ประชาชนได้แสดงออกอย่างเต็มที่ และได้รับประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแสดงออกทางความคิดเห็น หรือเรื่องบัตรเลือกตั้ง แต่ปฏิเสธให้ความเห็นต่อประเด็นปัญหาบัตรเลือกตั้งที่ไม่มีชื่อผู้สมัคร ชื่อพรรค หรือโลโก้ โดยระบุว่าขอให้สะดวกต่อประชาชนผู้ใช้สิทธิ์ โดย พล.อ.ประยุทธ์ ต้องบริหารประเทศในช่วงการเลือกตั้งด้วยความเป็นธรรม ใจกว้าง และมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี และประชาชนจะยอมรับผลการเลือกตั้ง หากไม่มีการโกง
อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยจะดีขึ้น หากทุกฝ่ายร่วมรับผิดชอบต่อบ้านเมือง แต่หากยิ่งพูดเรื่องความปรองดอง ยิ่งห่างความปรองดอง เพราะไม่ได้มีการเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่แท้จริง และอาจเป็นเครื่องมือของฝ่ายกุมอำนาจที่ต้องการอยู่ในอำนาจต่อ และยังมองว่าจากนี้มิติการเมืองจะมี 4 อย่าง คือโซเชียลมีเดีย ปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ การขยายตัวพลังบวกของจิตอาสา และการแตกตัวของพรรคเพื่อไทยที่มีพรรคย่อย
นอกจากนี้ ยังชี้ว่าเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทุกมิติ คอร์รัปชันในทุกระดับชั้น และกลุ่มทุนใหญ่ขยายอำนาจผูกขาดทางเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งกว่าอำนาจรัฐ โดยไม่มีกฎหมายควบคุมการขยายตัวของกลุ่มทุนในประเทศไทย พร้อมเห็นว่าระบบเศรษฐกิจไทยไม่พร้อมสำหรับนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 เมื่อเทียบกับดัชนีชี้วัดความพร้อมการเข้าสู่ยุค 4.0 เช่น VDMA และเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้โฟกัสการพัฒนาผิดจุด ด้วยความไม่พร้อมทั้งการศึกษาวิจัย ระดับเทคนิค บุคลากร และพื้นฐานต้นทุนอุตสาหกรรม
ส่วนด้านสังคม เห็นว่าคนรวยที่มีอยู่เพียงร้อยละ 1 ของประชากรทั้งประเทศรวยล้นฟ้า แต่คนจนกระจายอยู่ทั่วประเทศจำนวนมาก จึงเป็นสังคมโครงสร้าง 2 ชนชั้นครึ่ง คือชนชั้นกลางบน ชนชั้นกลางล่างยุบตัวซ้อนกับชนชั้นล่าง พร้อมเสนอให้รัฐบาลปัจจุบันปฏิรูปแบกะดินบ้าง ไม่ใช่สนับสนุนเพียงกลุ่มธุรกิจอิทธิพลใหญ่อย่างเต็มที่แล้วละเลยคนจนเมือง