ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผลหารือ "คสช.-พรรคการเมือง" เตรียมปลดล็อกการเมือง

การเมือง
8 ธ.ค. 61
13:38
592
Logo Thai PBS
ผลหารือ "คสช.-พรรคการเมือง" เตรียมปลดล็อกการเมือง
บรรยากาศการประชุมและหารือ จัดทำแผนและขั้นตอนการดำเนินการสู่การเลือกตั้ง เมื่อวานนี้ ( 7 ธ.ค.62) ระหว่าง คสช. กกต. และพรรคการเมือง โดยข้อความที่ชัดเจนที่สุด คือคำยืนยันการเลือกตั้งใน วันที่ 24 ก.พ.62

ในการประชุมและหารือจัดทำแผนและขั้นตอนการดำเนินการสู่การเลือกตั้ง สโมสรกองทัพบก เมื่อวานนี้ ( 7 ธ.ค.62) ระหว่าง คสช. กกต. และพรรคการเมือง โดยข้อความที่ชัดเจนที่สุด คือคำยืนยันการเลือกตั้งใน วันที่ 24 ก.พ.62

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.นั่งเป็นประธานการประชุมระหว่างแม่น้ำ 5 สายและพรรคการเมือง ซึ่งเข้าร่วม 75 พรรค มีผู้เข้าร่วม 225 คน ประชุม-หารือ และรับฟังแผนและขั้นตอนการดำเนินการสู่การเลือกตั้ง ตามโรดแมปที่กำหนดไว้ 24 ก.พ.62

หลังใช้เวลากว่า 2 ชม.ทั้งที่กางโรดแมปออกมาชี้แจงและเปิดให้พรรคการเมืองซักถาม หลังเสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรี เดินออกจากห้องประชุม พร้อมสีหน้ายิ้มแย้ม

การปลดล็อกทางการเมือง หัวหน้า คสช.จะออกคำสั่งฉบับใหม่ เพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.เดิม รวม 9 ฉบับ เพื่อเปิดทางให้พรรคการเมืองเริ่มการหาเสียงได้ คาดว่าน่าจะเป็นช่วงหลังจากที่กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธ.ค.61 นี้ และจากนั้นวันที่ 19 ธ.ค.61 กกต.จะนัดพรรคการเมืองหารืออีกครั้งเรื่องกรอบการหาเสียง ให้เป็นไปตามกฎหมายและเกิดความสงบเรียบร้อย

แม้จะไม่มีการกำหนดวันที่ชัดเจนของการปลดล็อกทางการเมือง แต่มีคำยืนยันจากพรรคการเมืองที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้แล้วว่า ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.62 วันที่ประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ส.ส. ลงในราชกิจจานุเบกษา พรรคการเมืองก็จะเริ่มกระบวนการหาเสียงทันที

กกต.ยืนยันแล้วว่า เป็นไปไม่ได้ สำหรับข้อเสนอของพรรคการเมืองใหม่ ขอให้ปรับลดเงื่อนคุณสมบัติผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ที่ต้องเป็นสมาชิกพรรคอย่างน้อย 90 วัน เหลือเพียง 30 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้การเข้าสู่สนามเลือกตั้งให้มากขึ้นแต่จะรับไปพิจารณา กรณีพรรคการเมืองขอให้แก้ไขบัตรเลือกตั้ง โดยจะพิมพ์โลโก้พรรคลงด้วย ซึ่งพรรคการเมืองสะท้อนถึงความไม่พร้อมลงสู่สนามหากเงื่อนไขไม่ได้รับการตอบรับ

การหารือครั้งนี้ มีพรรคการเมืองร่วม 10 พรรคที่ปฏิเสธเข้าร่วม ทั้งพรรคที่อยู่ขั้วตรงข้าม คสช.อย่างพรรคเพื่อไทย รวมถึงพรรคแนวร่วม หรือแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งอ้างถึงสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอ้างถึงความชอบธรรมทางการเมือง

โจทย์สำคัญข้อหนึ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้ นอกจากการเลือกตั้งที่จะต้องเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยแล้ว เรื่องของการยอมรับผลการเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมือง ก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องติดตามกันต่อไป จนกว่าจะประกาศผลการเลือกตั้งในเดือน เม.ย.ปีหน้า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง