วันนี้ (26 พ.ย.) วันสุดท้ายของการย้ายพรรคตามโรดแมปเลือกตั้ง หรือ 90 วัน ก่อนการเลือกตั้ง 24 ก.พ.2562 การเคลื่อนไหวของอดีต ส.ส. และผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่ชัดเจนแล้ว
พรรคที่กลุ่มบิ๊กเนม-อดีตส.ส. ย้ายเข้าสังกัดมากสุด คือ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งไล่เรียงแล้วพบมีอดีตส.ส. ทั้งพรรคขนาดใหญ่และพรรคขนาดกลางเข้าร่วมอุดมการณ์จำนวนมาก ล่าสุดคือกลุ่มของนายวราเทพ รัตนากร เป็นกลุ่มอดีตส.ส.แถวหน้าของพรรคเพื่อไทย(พท.)
ทั้งนี้ นายวราเทพ เป็นอดีต รมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และส.ส.ในกลุ่มวังบัวบานของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวของนายทักษิณ ชินวัตร แม้นายวราเทพ ยืนยันไม่สมัครเป็นสมาชิก พปชร. แต่ยอมรับว่ายกทีมอดีตส.ส.กำแพงเพชร พท. เข้าสังกัด พปชร. ทั้งหมด
นายวราเทพ รัตนากร
รายงานข่าววิเคราะห์สาเหตุการย้ายพรรค คาดว่าเป็นเพราะนางเยาวภา แกนนำกลุ่มวังบัวบาน ถูกลดบทบาททางการเมือง ซึ่งกระทบต่อบทบาทนายวราเทพใน พท. ด้วย นอกจากนี้พี่ชายของนายวราเทพ ยังอยู่ระหว่างถูกสั่งพักงานด้วยคำสั่ง ม.44 ระหว่างดำรงตำแหน่งนายก อบจ.กำแพงเพชร
อีกหนึ่งรายชื่อจาก พท. คือ นายเดชนัฐวิทย์ เตริยาภิรมย์ ลูกชายของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ ที่ถูกจำคุกในคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ แม้ก่อนหน้านี้จะเปิดตัวกับกลุ่มเลือดใหม่ พท.ไปแล้ว แต่ตัดสินใจย้ายมาสังกัด พปชร. เพราะมีความขัดแย้งกับทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีถูกพาดพิงว่ารัฐบาลใช้คดีจำนำข้าวต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองกับครอบครัวเตริยาภิรมย์
นอกจากนี้ยังมีชื่อของนายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พท. ที่ยืนยันตลอดมาว่ายังอยู่กับ พท. แต่สุดท้ายก็เข้าสังกัด พปชร. ตามด้วยกลุ่มตระกูล “อัศวเหม” ที่นำอดีตส.ส.ย้ายมาอยู่ พปชร.ยกทีม
ส่วนอดีตส.ส.ประชาธิปัตย์(ปชป.) ที่ย้ายเข้าพรรคนี้ นำโดยกลุ่มอดีต ส.ส.ภาคตะวันออก, นางกัลยา รุ่งวิจตร อดีต ส.ส.สระบุรี ปชป. ,นายธวัชชัย อนามพงษ์ อดีต ส.ส. จันทบุรี 8 สมัย ฯลฯ ส่วนสาเหตุนั้น นายธวัชชัย ระบุว่า เป็นฝ่ายค้านมาตลอด ไม่มีงบประมาณเข้าสู่จังหวัด อย่างไรก็ตามไม่มีบิ๊กเนมจาก ปชป. แต่มีอดีตส.ส.ที่มีชื่อในระดับจังหวัดย้ายเข้าพรรค
ขณะที่อดีต ส.ส.พรรคขนาดกลาง มีรายชื่อ อาทิ นายวัชระ กรรณิการ์ อดีตโฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.) และนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ อดีตรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย(ภท.) ย้ายเข้าสังกัด พปชร. นอกจากนี้ยังมีกลุ่มการเมืองสนับสนุน พปชร. เช่น กลุ่มบ้านริมน้ำของ นายสุชาติ ตันเจริญ และกลุ่มสามมิตร นำโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, นายอนุชา นาคาศัย นำผู้สมัครส.ส. กว่า 40 คน เข้าร่วมงานอย่างเป็นทางการ
เพื่อไทยส่ง "บิ๊กเนม" คุมพรรคสำรอง
ขณะที่พรรคเพื่อไทย(พท.) ชูภาพนางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นกุนซือนำทัพเลือกตั้ง ในฐานะประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พท. โดยภาพรวมมีทั้ง ส.ส. ไหลเข้า-ออก ซึ่งกลุ่มที่เพิ่งย้ายเข้ามาใหม่ อาทิ ตระกูล “ประเสริฐสุวรรณ” ตระกูลดั้งเดิมที่คุมฐานเสียง จ.สุพรรณบุรี ร่วมกับตระกูล "ศิลปอาชา" แต่ด้วยปัญหาภายใน ชทพ. เกี่ยวกับการส่งผู้สมัคร ส.ส. และตำแหน่งในพรรค จึงทำให้ตระกูลประเสริฐสุวรรณย้ายเข้าสังกัด พท.
นอกจากนี้ยังมีชื่อของ นายนคร มาฉิม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ปชป. ที่ประกาศจุดยืนไม่เอาเผด็จการชัดเจน โดยเฉพาะการโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์การรัฐประหารและการทำงานของ ปชป. ที่ร่วมกันโค่นล้มพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชน จนนำมาสู่การตัดสินใจเข้าสังกัด พท.
แม้ พท.จะไม่มีรายชื่อส.ส.ย้ายเข้าแบบหวือหวา แต่รายชื่อเดิมที่เป็น "บิ๊กเนม" ส่วนใหญ่ยังอยู่กับพรรค ส่วนรายชื่ออดีตส.ส.บางส่วนที่ย้ายไป พปชร. แกนนำ พท. ยืนยันว่าเป็นอดีตส.ส.แถวสอง หรือผู้สมัคร ส.ส. ที่เขตทับซ้อน ไม่มีที่ลงสมัคร
การเลือกตั้งครั้งนี้ พท. ถูกมองว่าใช้กลยุทธ์ "แตกพรรค" เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้ ส.ส. จนเกิดข้อครหาการตั้ง "พรรคสาขา" อย่างไทยรักษาชาติ(ทษช.) พรรคเพื่อชาติ และพรรคเพื่อธรรม
พรรคลำดับต้น คือ ทษช. มีแกนนำ พท. ย้ายเข้าสังกัด อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ ตามด้วยแกนนำ นปช. เช่น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ฯลฯและมีรายชื่อทหารเพิ่งเกษียณเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ได้แก่ พล.อ.ยศนันท์ หร่ายเจริญ อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดและอดีตผู้ใต้บังคับบัญชา พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มีการโต้ตอบผ่านสื่อมวลชนจนเป็นวิวาทะในช่วงที่ผ่านมา
นายจาตุรนต์ ฉายแสง
ส่วนพรรคเพื่อชาติมี นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. และนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา เป็นผู้ดูแลพรรค ขณะที่พรรคเพื่อธรรม กระแสตกลงไปหลังนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ที่ถูกจับตาว่าเป็นสายตรงนายทักษิณ ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค สอดคล้องกับกระแสข่าวที่ระบุว่า นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ถูกนายทักษิณจำกัดการเคลื่อนไหวทางการเมือง ส่งผลให้อดีตส.ส.ในสังกัดวังบัวบานจำนวนมากย้ายพรรค
ด้านพรรคใหญ่อย่าง ปชป. ที่มีข่าวถูกดูดส.ส.ต่อเนื่อง โดยเฉพาะส.ส.ที่ย้ายสังกัด พปชร. แต่อดีตส.ส. "บิ๊กเนม" ยังอยู่กับพรรค ไม่ต่างจาก พท. นอกจากนี้ยังมีสมาชิกหน้าใหม่เข้าสมทบ อาทิ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง และพล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม ปชป. ยังคงมีผู้สมัคร ส.ส.ที่คุมฐานเสียงในภาคใต้ แต่มีกลุ่มผู้สมัคร ส.ส. ที่เป็นแคนดิเดทในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร (เสื้อเชิ้ตแดง)
พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ
พรรคขนาดกลาง(ไม่)ระส่ำ
พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ยังเป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้ง แม้ไม่ประกาศจุดยืนชัดเจน แต่มีอดีตส.ส.ไม่น้อยที่เข้ามาสมทบ อาทิ ตระกูล "ปริศนานันทกุล" ทั้งนายภราดร และนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล อดีตส.ส. อ่างทอง ชทพ. ที่ย้ายพรรคหลัง "เสี่ยตือ" ประกาศลาออกจาก ชทพ.
เช่นเดียวกับ "เสี่ยโต้ง" หรือ นายสิริพงศ์ อังสกุลเกียรติ ที่เคยเป็นแคนดิเดทเลขาธิการ ชพท. และนายชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีตส.ส.อุทัยธานี ชทพ. ที่ย้ายเข้าสังกัด ภท. หลังการเปลี่ยนแปลงของ ชพท. ในวันที่ไม่มีนายบรรหาร ศิลปอาชา
ความเปลี่ยนแปลงที่ว่า คือการตั้ง "หนูนา" หรือน.ส.กัญจนา ศิลปอาชา นั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรค จากเดิมที่ว่างตัว "ท็อป" หรือนายวราวุธ ศิลปอาชา เป็นหัวหน้าพรรค ต่อด้วยการเข้ามาของตระกูล "สะสมทรัพย์" และตระกูล "ไกรวัตนุสสรณ์" ที่ทำให้มีการปรับตำแหน่งครั้งใหญ่ และการแบ่งเขตส่งผู้สมัคร ส.ส.ที่ไม่ลงตัว จนมีอดีตส.ส.ไหลออก ส่วนอดีต ส.ส. ที่เข้ามาสมทบมีจำนวนหนึ่งเช่น"บิ๊ก บัง" หรือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้าพรรคมาตุภูมิและอดีตประธาน คมช. เป็นต้น
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน, น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา, นายประภัตร โพธสุธน
การจัดทัพของพรรคการเมือง สะท้อนการเปลี่ยนแปลง 2 ด้าน คือ 1. พปชร. ที่มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลชัดเจน สามารถดูด ส.ส. ได้จำนวนมาก โดยเฉพาะอดีต ส.ส.จากพรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลาง และยังมีแรงสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองที่เป็นนักการเมืองรุ่นเก่า เช่น กลุ่มสามมิตร และนายสุชาติ ที่มีประสบการณ์ทางการเมืองสูง
2. พรรคการเมืองเก่าทั้ง พท. และ ปชป. ยังรักษาผู้สมัคร ส.ส.เกรดเอไว้ได้ แต่พรรคขนาดกลางมีการเปลี่ยนตัวผู้สมัครพอสมควร โดย ภท. กลายเป็นพรรคขนาดกลางที่อดีตส.ส.เลือกเข้าสังกัด เพื่อลดอคติจากประชาชนระหว่างการเลือกฝั่งเผด็จการหรือประชาธิปัตย์
เสียงจากพรรคขนาดกลาง ยังมีความสำคัญและเป็นตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาล เช่นเดียวกับท่าทีของ ปชป. ที่จะมีส่วนสำคัญในการตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ดังนั้นการสงวนท่าทีของ "ตัวแปร" ทางการเมือง จึงมีผลต่อการเลือกที่จะถึงนี้ แม้ พปชร. จะมีอดีต ส.ส.ส่วนหนึ่งในมือก็ตาม
เจษฎา จี้สละ ไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน